วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดาวเคราะห์เดือนนี้ (มีนาคม 2553)

ที่มา : http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/

ดาวเคราะห์เดือนนี้ (มีนาคม 2553)

1 มีนาคม 2553วรเชษฐ์ บุญปลอด

ดาวพุธ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เกือบตลอดเดือนมีนาคมโดยอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ที่ตำแหน่งร่วมทิศแนววงนอก (superior conjunction) ในวันที่ 14 มีนาคม ทำให้ไม่เห็นดาวพุธเกือบตลอดทั้งเดือน วันที่ 31 มีนาคม หรือ 1 เมษายน อาจเริ่มเห็นดาวพุธอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำใกล้ ๆ ดาวศุกร์ ดาวพุธจะอยู่ทางขวามือเยื้องไปทางด้านล่างของดาวศุกร์ ขณะนั้นดาวพุธสว่างด้วยโชติมาตร -1.0 ขนาดเชิงมุม 6 พิลิปดา ด้านสว่างคิดเป็นพื้นที่ราว 70% ของพื้นผิวทั้งหมด หลังจากนั้นดาวพุธจะอยู่ใกล้ดาวศุกร์ด้วยระยะห่างราว 3 ถึง 4 องศาไปตลอด 2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน

ดาวศุกร์ (โชติมาตร -3.9) หลังจากอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาตลอด 4 เดือน ราวกลางเดือนมีนาคมนี้ดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏเป็นดาวประจำเมืองบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ มองเห็นดาวศุกร์ได้ทางทิศตะวันตก ดาวศุกร์อยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนักในขณะที่ท้องฟ้าเริ่มมืด มันอยู่ในกลุ่มดาวปลาเกือบตลอดทั้งเดือน ดาวศุกร์เข้าไปในเขตของกลุ่มดาวซีตัสในช่วงกลางเดือน นาน 2-3 วัน ก่อนเข้าสู่กลุ่มดาวปลาอีกครั้ง และย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวแกะในวันที่ 31 มีนาคม ตลอดเดือนนี้ขนาดปรากฏของดาวศุกร์ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยจาก 10.0 เป็น 10.5 พิลิปดา พื้นผิวด้านสว่างลดลงจาก 98% เป็น 95%

ดาวอังคาร อยู่ในกลุ่มดาวปู เริ่มเห็นได้ขณะมันอยู่สูงเหนือท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาพลบค่ำ หลังจากนั้นไม่นานดาวอังคารจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าเหนือศีรษะ แล้วคล้อยต่ำลงไปทางทิศตะวันตก ต้นเดือนดาวอังคารตกลับขอบฟ้าในเวลาตี 4 ครึ่ง ปลายเดือนตกลับขอบฟ้าเร็วขึ้นอีก 2 ชั่วโมง เดือนนี้ความสว่างและขนาดปรากฏของดาวอังคารยังคงลดลง โชติมาตรเปลี่ยนแปลงจาก -0.6 ไปเป็น +0.2 เส้นผ่านศูนย์กลางเชิงมุมลดลงจาก 12.1 เป็น 9.3 พิลิปดา ค่ำวันที่ 25 มีนาคม ดวงจันทร์จะอยู่ทางทิศใต้ (ขวามือเมื่อหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) ของดาวอังคารด้วยระยะห่าง 4 องศา

ดาวพฤหัสบดี (โชติมาตร -2.0) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ดาวพฤหัสบดีอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ จากนั้นราวปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน น่าจะเริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีได้บริเวณใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด

ดาวเสาร์ อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ต้นเดือนดาวเสาร์จะขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกด้วยมุมเงยมากกว่า 15 องศาตั้งแต่เวลาประมาณ 3 ทุ่ม ปลายเดือนเร็วขึ้นอีก 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นดาวเสาร์จะอยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน วันที่ 22 มีนาคม ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีเส้นผ่านศูนย์กลางเชิงมุมตามแนวศูนย์สูตร 19.4 พิลิปดา พร้อมกับสว่างที่สุดด้วยโชติมาตร +0.5

วันที่ 29 มีนาคม ดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวงจะอยู่ทางขวามือของดาวเสาร์ด้วยระยะเชิงมุม 7 องศา หากดูดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นวงแหวนซึ่งขณะนี้เอียงทำมุมกับแนวเล็งประมาณ 3-4 องศา และกำลังลดลงอย่างช้า ๆ จะทำมุมแคบที่สุด 1.7 องศาในปลายเดือนพฤษภาคมก่อนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.9) อยู่ในกลุ่มดาวปลา ดาวยูเรนัสจะอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 17 มีนาคม จึงไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ น่าจะเริ่มสังเกตได้อีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

ดาวเนปจูน (โชติมาตร +8.0) ออกจากกลุ่มดาวแพะทะเลเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำราววันที่ 24 มีนาคม ดาวเนปจูนจะออกห่างจากดวงอาทิตย์จนเริ่มสังเกตการณ์ได้ในเวลาเช้ามืดโดยเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนเมษายน มีช่วงเวลาที่สังเกตการณ์ได้ไม่นานก่อนท้องฟ้าสว่าง และมีมุมเงยเหนือขอบฟ้าไม่มากนัก แผนที่ตำแหน่งดาวเนปจูนแสดงไว้ในวารสารทางช้างเผือกฉบับคู่มือดูดาวประจำปี 2553 ข้อมูลดวงจันทร์ขึ้น-ตก ดูที่ เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก

ดวงจันทร์ ครึ่งแรกของเดือนเป็นข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทุกวันในเวลาเช้ามืด วันที่ 2 มีนาคม ดวงจันทร์อยู่ห่างดาวเสาร์ 9 องศา สองวันถัดมาดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวรวงข้าว เช้ามืดวันที่ 7 มีนาคม ดวงจันทร์อยู่ห่าง 2 องศาทางขวามือของดาวแอนทาเรสในกลุ่มดาวแมงป่อง วันที่ 14 มีนาคม น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่เห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบาง ๆ ในเวลาเช้ามืดก่อนจันทร์ดับซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม

วันที่ 17 มีนาคม ดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบาง ๆ เหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำ สังเกตได้ดีในเวลาประมาณ 30 นาทีหลังดวงอาทิตย์ตก และยังเป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ทางขวามือของดาวศุกร์ด้วยระยะเชิงมุม 6 องศา ค่ำวันที่ 25 มีนาคม ดวงจันทร์จะอยู่ใกล้ดาวอังคาร ห่างเพียง 4 องศา วันที่ 27 และ 29 มีนาคม ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์และดาวเสาร์ ตามลำดับ จากนั้นมันจะสว่างเต็มดวงในวันที่ 30 มีนาคม เดือนนี้มีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ที่น่าสนใจ 3 ครั้ง คือ ในเช้ามืดวันที่ 7 มีนาคม ค่ำวันที่ 18 มีนาคม และคืนวันที่ 24 มีนาคม ดูรายละเอียดในวารสารฉบับคู่มือดูดาว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น