วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

จาก Contact ถึง Agora

จาก Contact ถึง Agora

ดวงดาว ศรัทธา วิทยาศาสตร์ และความเกลียดชัง

บดินทร์ เทพรัตน์

ทันทีที่ผมดูภาพยนตร์ เรื่อง Agora หนังสเปนมหากาพย์ของ อเลฮานโดร อมีนาบาร์จบ ใจผมก็พลันนึกถึงภาพยนตร์ในดวงใจของผมอีกเรื่องหนึ่งทันทีซึ่งหนังเรื่องนี้มีประเด็นหลักและใจความสำคัญของเรื่องใกล้เคียงกับ หนัง Agora เรื่องนี้อย่างมาก

หนังเรื่องนั้นไม่ใช่ภาพยนตร์มหากาพย์อย่าง Ben-Hur, Cleopatra หรือ The Ten Commandments ซึ่งมีหน้าหนังคล้ายกัน แต่เป็นหนังซึ่งดูจากภายนอกแล้ว ไม่มีอะไรคล้ายคลึงกับ Agora เลย

หนังเรื่องนั้นคือ Contact หนังอเมริกันแนววิทยาศาสตร์ของโรเบิร์ต เซเมคคิสครับ

ทั้ง Agora และ Contact มีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง นั่นคือ หนังมีตัวละครหลักที่เป็นหญิงสาวผู้ทุ่มเทชีวิตของเธอให้กับการศึกษาเรื่องดวงดาวมากกว่าเรื่องส่วนตัวหรือความรัก แต่สุดท้ายเธอก็ไปขัดแย้งกับกลุ่มผู้มีอำนาจที่มองศรัทธาเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ จนทำให้นางเอกผู้ไม่ศรัทธาสิ่งใดเลยนอกจากวิทยาศาสตร์ต้องประสบกับชะตากรรมอันน่าเศร้า

ตัวละครเอลลี่ใน Contact เป็นนักวิทยาศาสตร์สาวที่หลงใหลในศาสตร์แห่งดวงดาว เธอพยายามพิสูจน์ว่า มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่นอกโลกอยู่จริงๆ ด้วยการอุทิศตัวให้กับโครงการดักจับสัญญาณวิทยุจากนอกโลก เธอไม่มีครอบครัว พ่อของเธอเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก และไม่สนใจความรักจากใครแม้จะมีชายหนุ่มที่หลงรักเธออย่างบาทหลวงพาล์มเมอร์ จอส ผู้ศรัทธาในพระเจ้า

นอกจากจะมีฉากไคลแม็กซ์เกี่ยวกับการเดินทางผ่านรูหนอนเพื่อไปสู่ดาวเวก้าอันน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว อีกฉากนึงที่หลายคนมักจะนึกถึง เพราะเป็นฉากที่สำคัญและเป็นฉากที่ผู้สร้างโยนคำถามใส่ผู้ชมโดยที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้

นั่นคือ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนกำลังพิจารณาว่าให้เธอขึ้นยานสำหรับเดินทางไปดาวเวก้าดีหรือไม่ โดยพวกเขาได้ถามคำถามสำคัญกับเธอว่า เธอเชื่อในพระเจ้าไหม?

แน่นอนว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการ คือ คำตอบแค่คำเดียวซึ่งง่ายมากหากคิดจะพูดออกมา แต่ในเมื่อมันขัดกับสิ่งที่เธอคิดจริงๆ เมื่ตลอดทั้งชีวิตของเธอ เธอเชื่อถือแต่เพียงวิทยาศาสตร์ สุดท้ายแล้วเธอจึงไม่สามารถให้คำตอบกับคณะกรรมการได้ และความฝันในการได้ขึ้นไปอยู่บนยานพาหนะซึ่งสามารถใช้เดินทางไปดาวเวก้าที่เธอเป็นผู้เริ่มต้นทั้งหมดก็ล่มสลายลง (แต่โชคดีที่สุดท้าย เธอได้รับโอกาสอีกครั้งนึง เนื่องจากการเดินทางครั้งแรกเกิดเหตุผิดพลาด เธอจึงกลายเป็นคนที่ได้เดินทางไปดาวเวก้าแทน) แม้ประเด็นนี้จะเป็นหนึ่งในอีกหลายประเด็นย่อยที่หนัง Contact พยายามนำเสนอ แต่ด้วยความทรงพลังของฉากนี้ นั่นก็ได้ทำให้ฉากนี้กลายเป็นฉากที่ติดอยู่ในหัวผมตลอดหลายปีที่ผ่านมา

และเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อผมมีโอกาสได้ชม Agora ผมก็พลันรู้สึกเกิดอาการ Déjà vu เหมือนฉากนั้นปรากฏมาให้ผมเห็นอีกรอบ

Agora ซึ่งยังเหลือรอบฉายในโรงภาพยนตร์อยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องราวของ นักปราชญ์หญิงนาม ไฮปาเทีย แห่งเมืองอเล็กซานเดีย เมื่อ 400 ปีหลังคริสตกาล ในยุคที่อียิปต์ถูกปกครองโดยอาณาจักรโรมันซึ่งกำลังจะล่มสลาย เธอเป็นนักพหูสูตร ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ และหลักวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย เธอทุ่มเททั้งชีวิตของเธอให้กับการค้นคว้า วิจัย เขียนตำรา และสอนหนังสือซึ่งแน่นอนว่าทั้งเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ทั้งหมดเป็นผู้ชาย

ไฮปาเทียถือว่าเป็นผู้หญิงที่มาก่อนกาล ขณะที่ผู้หญิงในยุคของเธอ แทบไม่มีใครโดดเด่นในด้านวิชาการหรือทางการเมืองเลย แต่ด้วยความสามารถของไฮปาเทียทำให้เธอกลายเป็นนักปราชญ์และเป็นบุคคลสำคัญซึ่งยังคงเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้ได้

ในยุคที่เธออาศัยอยู่นั้นเป็นยุคแห่งความวุ่นวาย เมื่อเกิดเหตุการปะทะกันของสองความเชื่อ เมื่อลัทธิบูชาเทพเจ้าซึ่งเป็นที่นิยมอยู่เดิม ถูกรุกล้ำด้วยความเชื่อของลัทธิใหม่ซึ่งกำลังมาแรงอย่างคริสตศาสนา

เมื่อเห็นว่า ลัทธิใหม่กำลังลุกล้ำและคุกคามความเชื่อเดิม ทางฝ่ายบูชาเทพเจ้าจึงเริ่มใช้ความรุนแรงกับฝ่ายคริสตศาสนา แต่สุดท้ายฝ่ายบูชาเทพเจ้าก็คาดการณ์ผิด เมื่อจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่พวกเขาประเมิน มีมากกว่าที่คิดไว้เยอะ จนเกิดเป็นการสู้รบและจลาจลขึ้น สุดท้ายชัยชนะก็ตกเป็นของมวลชนผู้นับถือศาสนาคริสต์

สิ่งที่เป็นตัวแทนของระบบความเชื่อเก่าถูกทำลาย รูปปั้นเทพเจ้าทั้งหลายในเมืองถูกโค่นทิ้ง ห้องสมุดอเล็กซานเดรียซึ่งถูกกล่าวขวัญว่าเป็นห้องสมุดที่ดีที่สุดในตอนนั้นถูกทำลาย

แต่ใช่ว่าเหตุการณ์จะจบลงด้วยความสงบสุข เมื่อต่อมาได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างชาวคริสต์ทั่วไปกับชาวยิวที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งชาวยิวที่ถูกรังแก (ด้วยข้อหาดั้งเดิมที่ว่า ชนชาติเขาเป็นผู้ฆ่าพระเยซู) จนตัดสินใจล้างแค้นคืน จนเกิดเป็นความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ

ซึ่งทั้งหมดนี้ ไฮปาเทียทำได้เพียงเป็นผู้สังเกตการณ์ ยืนดูความล่มสลายของบ้านเมืองอย่างเงียบๆ โดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ และสุดท้ายเธอก็กลับไปหาสิ่งที่เธอทำได้ดีที่สุดอีกครั้ง นั่นคือการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ของเธอ โดยในที่สุดแล้ว เธอก็ค้นพบความลับของดาราศาสตร์อันแสนยิ่งใหญ่ว่า ที่จริงแล้ว ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลกอย่างที่เข้าใจกัน และวงโคจรของดวงดาว เป็นวงรี ไม่ใช่เป็นวงกลมซึ่งเป็นรูปทรงศักดิ์สิทธ์อย่างที่คนทั่วไปตอนนั้นข้าใจ ซึ่งสิ่งที่เธอค้นพบนั้นมีความสำคัญมากถึงขั้นสามารถพลิกโลกวิทยาศาสตร์ได้ แต่น่าเสียดายที่ทฤษฎีเปลี่ยนโลกนั้น ต้องสูญหายไปพร้อมกับการเสียชีวิตของเธอ

แม้ว่าเธอจะพยายามหนี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกับความขัดแย้งทางการเมือง แต่สุดท้าย การเมืองก็ตามมาทำร้ายเธอถึงที่อยู่ดี เมื่อความขัดแย้งพุ่งขึ้นถึงขีดสุด ทาง ซีริล ผู้นำของฝ่ายคริสต์ ได้กดดันให้ ออเรสเตส ผู้ปกครองเมืองและอดีตลูกศิษย์ไฮปาเทียผู้หลงรักอาจารย์ของเขาจนหมดใจจัดการลงโทษเธอเสีย ด้วยสาเหตุที่เธอไม่ยอมพาตัวเองเข้าสู่คริสต์ศาสนาและไม่ประกาศชัดว่าเธอไม่เชื่อถือในพระเจ้า

โดยซีริลนำคำสอนของพระเยซู มาพลิกแพลงถ่ายทอดว่า พระเยซูทรงไม่เชื่อในสตรีเพศ โดยดูจากศิษย์ 13 คนที่ได้รับเชิญใน The Last Supper หรืออาหารค่ำครั้งสุดท้ายการท่านจะถูกจับไปตรึงกางเขนนั้นไม่มีใครเป็นสตรีเพศเลย (ซึ่งนิยาย The Da Vinci Code ของ Dan Brown ที่ได้รับการต่อต้านจากชาวคริสต์อย่างสูงในยุตปัจจุบันก็ได้นำประเด็นนี้ไปใส่ไว้ในหนังสือเช่นกัน)

ออเรสเตสให้ไฮปาเทียเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เพื่อรักษาชีวิตของเธอไว้ แต่ไฮปาเทียกลับปฏิเสธคำขอร้องนั้นด้วยสาเหตุที่ว่า ศาสนาคริสต์เป็นสิ่งที่ขัดกับความเชื่อของเธอ สุดท้าย เธอจึงโดนข้อกล่าวหาว่าเป็นแม่มด และโทษสูงสุดที่เธอสมควรได้รับคือ ถูกลงโทษด้วยการปาหินใส่จนเสียชีวิตและนำศพไปลากประจานทั่วเมือง

เราจะพบว่า สถานการณ์ที่ไฮปาเทียได้พบเจอนั้น ไม่ต่างจากกาลิเลโอเท่าไร เพียงแต่ไฮปาเทียนั้น มีแนวคิดที่ต่างจากกาลิเลโอหรือแม้กระทั่งตัวละครโฮลเด้น คอลฟิลด์ในนิยาย The Catcher in the Rye ของ J.D. Salinger ซึ่งเคยพูดว่า "ลักษณะเด่นของผู้ไม่บรรลุวุฒิภาวะคือ เขาต้องการตายอย่างสง่างามเพื่ออุดมการณ์ ขณะที่ลักษณะเด่นของผู้บรรลุวุฒิภาวะคือ เขาต้องการอยู่อย่างเจียมตนเพื่ออุดมการณ์" (สำนวนแปลโดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์) ไฮปาเทียเลือกที่จะยอมตายเพื่อรักษาอุดมการณ์ของเธอไว้

เธอให้เหตุผลของการปฏิเสธที่ชวนคิดว่า ศาสนาต้องอาศัยความศรัทธา ซึ่งมันขัดแย้งกับวิทยาศาสตรัที่เธอเชื่อถือซึ่งอยู่ในขั้วตรงข้ามกับคำนั้น ซึ่งถ้าเรานำมาพิจารณาดีๆ แล้ว จะพบว่า คำว่าศรัทธา แปลว่า การนับถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อสงสัย และไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์ซึ่งทฤษฎีเก่าๆ ความรู้เก่าๆ จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ ท้าทาย หรือนักวิทยาศาสตร์จำเป็นมีข้อสงสัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคุณสมบัติที่ดีของนักวิทยาศาสตร์นั้น แทบจะอยู่กันคนละฟากฝั่งกับการเป็นผู้ศรัทธาที่ดีไปเลย

โดยทั้งนี้แล้ว ไฮปาเทียไม่ได้บอกว่าฝั่งไหนคือฝั่งที่ถูกต้อง เธอเพียงบอกว่าฝั่งวิทยาศาสตร์คือฝั่งที่เธอเลือก แต่น่าเศร้าที่เจตจำนงเสรีไม่มีอยู่จริงในยุคนั้น เพราะเธอกลับไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเลือกความคิดของตัวเธอเอง

หนังชี้ให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่ลอยตัวอยู่เหนือสังคมอยู่ได้ด้วยความบริสุทธิ์ตลอดเวลา แม้แต่ศาสนาที่หลายคนมองเป็นสิ่งที่สูงค่าก็ยังต้องแอบอิงไปกับการเมือง อำนาจรัฐของอเล็กซานเดรียผูกติดกับศาสนาจนขนาดผู้ปกครองเมืองยังไม่สามารถควบคุมความสงบได้ แม้ขนาดการตัดสินใจยังไม่สามารถทำได้หากการตัดสินใจนั้นขัดแย้งกับพระวจนะของพระเยซูที่ซีริลยกมาอ้าง ซึ่งด้วยความที่ไม่มีระบบตรวจสอบเนื่องจากประชาชนหลายคนศรัทธาในสิ่งนี้จนเชื่อคำพูดทุกอย่างที่ซีริลยกหลักขึ้นมาจากคำสอนพระเยซู ทำให้สุดท้ายพระวจนะของพระเยซูก็ถูฏบิดเบือนและถูกผู้ที่ผูกขาดจริยะธรรมแต่เพียงผู้เดียวอย่างซีริล นำไปใช้ทำลายล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างเลือดเย็น

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในเรื่อง Agora คือ การต่อสู้ห้ำหั่นกันของประชาชนในอเล็กซานเดรียด้วยสาเหตุเรื่องความเชื่อที่ต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าคนเราไม่มีทางที่จะเชื่ออะไรเหมือนกัน แต่หากไร้ซึ่งอหิงสา นั่นก็ยิ่งทำให้เหตุการณ์ความขัดแย้งนั้นเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนเกิดขึ้นเป็นความจลาจล ซึ่งนับวันก็ยิ่งรุนแรง หาทางออกไม่ได้ขึ้นทุกที และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ เมื่อสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้นไม่ได้ เกิดมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่หัวหน้าของฝ่ายนั้นสามารถกุมอำนาจรัฐเหนือกว่าอีกฝ่ายและใช้มันโดยไม่คำนึงถึงนิติรัฐ อีกทั้งกลุ่มคนของฝ่ายนั้นก็ยินดีเปิดทางให้มีการลงโทษฝ่ายที่คิดต่างจากตัวเองด้วยอำนาจที่เหนือกว่าได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่ในหนังเรื่องนี้ แต่ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ทั้งที่เทียนอันเหมิน รวันด้า หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองเมื่อสมัย 6 ตค. 2519

สิ่งที่ชวนให้คิดใน Agora อีกอย่างนึงคือ การครอบงำของศาสนาคริสต์ โดยสาเหตุที่ศาสนานี้สามารถครองใจคนในเอเล็กซานเดรียได้ในทีแรก เนื่องมาจากคนในเมืองได้พิจารณาว่า ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรักและความเสมอภาค หลักคำสอนของศาสนาได้สอนให้รักกันและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ด้อยโอกาส ซึ่งต่างจากความเชื่อเก่าอย่างลัทธิบูชาเทพเจ้า ซึ่งยังมีการแบ่งชนชั้นเป็นนายกับทาส และมองเห็นมนุษย์เป็นแค่ฝุ่นใต้เท้าของเทพเจ้าซึ่งด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ ดาวัส ทาสของไฮปาเทียผู้ตกหลุมรักนายตัวเองตัดสินทรยศไฮปาเทียเปลี่ยนไปเข้าร่วมกับศาสนาคริสต์เพื่อทำลายล้างความเชื่อเดิมแต่สุดท้าย ดาวัสก็พบว่า คำสอนดีๆ ของศาสนาก็สามารถถูกบิดเบือนได้ โดยผู้นำศาสนาอย่างซีริลได้บิดเบือนคำสอนของพระเยซู ด้วยการบอกว่า กับศัตรูของศาสนาต้องใช้ความแค้นจัดการมากกว่าความรัก และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ซึ่งศาสนาคริสต์ยึดถือ สุดท้ายก็บิดเบี้ยวไปเป็นการเหยียดหยามเข่นฆ่าคนที่มีความเชื่อต่างจากอีกฝ่าย จนเกิดเป็นความวุ่นวายในเมืองอเล็กซานเดรียที่ไม่รู้จบ

นอกจากเนื้อหาทางการเมืองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในตัวหนัง คือ เรื่องราวของจักรวาลและดวงดาว ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปนานสักเท่าไร แต่ปริศนาเรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ชวนให้ค้นหาคำตอบสำหรับนักวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ ซึ่งหลายอย่างก็ยังคงเป็นปริศนาซึ่งจวบจนกระทั่งบัดนี้เราก็ยังหาคำตอบที่น่าพอใจไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น กำเนิดของจักรวาลและต้นเหตุของมัน

ในยุคของไฮปาเทีย ความเชื่อที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาลกลายเป็นความเชื่อของนักปราชญ์บ๊องๆ คนหนึ่งที่คนในยุคนั้นต่างหัวเราะเยาะ ความเชื่อที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล และวงโคจรเป็นวงกลมต่างเป็นความเชื่อที่นักปราชญ์ในยุคนั้นต่างยึดถือเป็นสรณะ แม้ว่าจะใช้ชุดคำอธิบายหรือทฤษฎีที่ยุ่งยากสักเท่าไร ก็ยังต้องคงความเชื่อนี้ต่อไปให้ได้ แต่ไฮปาเทียค้นพบหลักอย่างที่ปัจจุบันเรียกกันว่า occam's razor หรือคำอธิบายที่ง่ายหรือซับซ้อนน้อยที่สุดที่สุดน่าจะเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องที่สุด ไฮปาเทียพบว่าคำอธิบายที่น่าหัวเราะเยาะนั้นเป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง และวงกลมไม่ใช่คำตอบของทุกสรรพสิ่งอย่างที่คนในอเล็กซานเดรียเชื่อถือกัน เมื่อเธอพบว่าที่จริงแล้ว ดวงดาวมีวงโคจรเป็นรูปวงรี

หนังยังใส่เกร็ดชวนขำอีกอย่างว่า ที่แท้จริงแล้วคนในยุคนั้นเขาก็รู้กันแล้วว่าโลกเป็นทรงกลม แต่ไหง เวลาผ่านไป ความรู้บนโลกเรากลับถอยหลังลงคลอง คนกลับมาเชื่อว่าโลกแบนอีกครั้ง เหมือนจะเสียดสีว่า ความขัดแย้งทางการเมืองและ blind faith ทำใหโลกล้าหลังทางความรู้ไปเกือบ 1000 ปี เพราะกว่าที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสจะพบว่าโลกกลมหรือโยฮันเนส เคปเลอร์จะพบว่าวงโคจรดวงดาวเป็นวงรี ก็ปาไปเกือบ 1000 ปีหลังจากไฮปาเทียเสียชีวิต

สิ่งหนึ่งที่คนดูหนังเรื่องนี้จะจดจำได้ไปอีกนาน นั่นคือ ความพิเศษของตัวละครไฮปาเทีย เธอทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อวิทยาศาสตร์ การที่เธอเป็นผู้ที่สนใจในดวงดาว นั่นย่อมทำให้เธอมองว่า อันที่จริงคนเราก็เป็นแค่เศษดวงดาวอันเล็กน้อยไร้ค่า และความขัดแย้งต่างๆ ของมนุษย์ช่างเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับจักรวาลอันยิ่งใหญ่

เธอไม่สนใจแม้กระทั่งเรื่องความรัก โดยเธอถึงขั้นให้ผ้าที่เปื้อนเลือดประจำเดือนของเธอกับออเรสเตสหลังจากที่ที่เขาเข้ามาสารภาพรักกับเธอ ด้วยเธอต้องการให้เขาตาสว่างว่า อันที่จริงแล้ว เธอไม่ได้เป็นเทพธิดาวิเศษวิโสมาจากที่ไหน แต่แท้ที่จริงเธอก็เป็นเพียงแค่คนธรรมดา เป็นผู้หญิงที่มีเลือดประจำเดือนซึ่งผู้ชายรังเกียจเหมือนกับผู้หญิงทุกคน

ซึ่งลักษณะการถ่ายทอดภาพในหนังของผู้กำกับอมีนาบาร์ช่างเข้ากันได้ดีกับความคิดของไฮปาเทียในเรื่อง ซึ่งในหนังเรื่องนี้อมีนาบาร์เลือกใช้กล้องมุมสูงแบบ Bird Eye's View ซึ่งมองเห็นมนุษย์เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่ามดไม่เห็นหน้า ไม่เห็นตัว ขาดอัตลักษณ์ และไม่เหลือความยิ่งใหญ่ในตัวเอง และถ้าเรามองว่า Agora เป็นหนังที่มีม็อบเกิดขึ้นทั้งเรื่อง หนังเรื่องนี้ก็ใช้ประโยชน์จากมุมกล้องนี้ได้ดีและเข้าทางกับเนื้อหาของหนังมาก โดยประชา สุวีรานนท์ได้เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจในหนังสือ Design Culture ในบท "คนหนอคน คือพิกเซลอันยิ่งใหญ่" ซึ่งลักษณะของการถ่ายภาพในมุมกว้างและมองมนุษย์เป็นจุดเล็กๆ ในหลายฉากของ Agora นี้ เปรียบได้กับการถ่ายภาพในมุมกว้างอย่างในหนัง propaganda พรรคนาซีอย่าง Triumph of the will ของเรนี ไรเฟนสตาห์ล ซึ่งการแสดงให้เห็นถึงคนในขนาดเล็กๆ ปริมาณเยอะๆ นั่นสื่อความหมายถึง การลดความสำคัญของปัจเจกชนแต่เปลี่ยนไปเน้นที่อุดมการณ์ที่กลุ่มคนนั้นมีอยู่มากกว่า แต่นั่นก็ส่งผลให้แต่ละฝ่ายต่างมองอีกฝ่ายเป็นแค่ตัวแทนของอีกความเชื่อ อีกอุดมการณ์ ไม่ได้มองเขาเป็นคนที่มีเลือดเนื้อ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราไม่เปิดใจกว้างพอ เราก็จะมองว่าเขาเป็นปีศาจที่ไม่รู้สึกอะไรหากเขาจะตายไปเพราะความขัดแย้ง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหลือเกิน

เมื่อคิดว่า ที่จริงแล้วทุกคนก็เป็นเพียงแค่ฐากศพของดวงดาวที่รอวันสลายกลับคืนสู่จักรวาลอีกครั้ง

************************************

4 ความคิดเห็น:

  1. อยากดูมากครับ ผมก็ชอบเรื่อง contact เหมือนกัน

    ตอบลบ
  2. น่าเศร้ามากที่ EGV โคราช ไม่เข้าฉาย ต้องรอ DVD... (T__T)

    ตอบลบ
  3. ดีมากค่ะทำให้น่าสนใจ อยากดูมากค่ะ

    ตอบลบ
  4. เป็นหนังที่ดีมากเรื่องนึงครับ แต่น่าเสียดายที่คนดูน้อยไปหน่อย จนรอบฉายหมดลงอย่างรวดเร็ว

    ยังไง ถ้าออกเป็นแผ่นแล้ว อย่าพลาดนะครับ
    ดูจบแล้ว คุณจะได้อะไรติดอยู่ในหัวเยอะทีเดียวครับ

    บดินทร์

    ตอบลบ