วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2553

ไพ่เรียกสติ

ไพ่เรียกสติ
เขียนโดย : carbump

เรื่อง

ไพ่สองสำรับถูกแยกออกจากกัน สำรับแรกสีแดง เขียนความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ไว้ในไพ่แต่ละใบ

สำรับที่สองสีเหลือง เขียนความต้องการของมนุษย์ไว้บนนั้น

ไพ่ทั้งสองสำรับเป็นอุปกรณ์สำหรับการเล่นเกมทายความต้องการของเพื่อน โดยให้นั่งล้อมวงเป็นวงกลม ให้แต่ละคนเลือกไพ่สีแดงที่ใช้บอกความรู้สึกพื้นฐานของตนสามใบ โดยให้สะท้อนความรู้สึกของตนเองผ่านเรื่องเล่าใดก็ได้ เพื่อให้เพื่อทายว่า ความรู้สึกแบบนั้นกำลังมีความต้องการอะไร

เกมไพ่ทายความต้องการเป็นหนึ่งในการทายความต้องการของคนอื่น เพื่อลองพยายามอ่านใจคนอื่นให้รู้ว่า ความต้องการของเขาคืออะไร

ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมภายใต้การสร้างจิตตปัญญาให้กับผู้นำชุมชน และนักกิจกรรมทางสังคม ที่จัดในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อฝึกอบรมให้กับนักกิจกรรมทางสังคมหลากหลายวัย ตั้งแต่เยาวชน ไปจนถึงคนสูงวัย

คนเหล่านี้ต่างเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมทางสังคม ทั้งการต่อสู้ เรียกร้อง และต่อรองกับฝ่ายรัฐ อันเนื่องมาจากปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม

แกนนำชุมชนหรือนักกิจกรรมทางสังคมเหล่านี้ ต้องเผชิญกับความขัดแย้ง ความกดดันหลายฝ่าย รวมไปถึงการพ่ายแพ้ต่อตนเอง เพราะขาดความมั่นคงทางอารมณ์ บางคนต่อสู้กับสิ่งเร้าภายนอก จนละเลยความสัมพันธ์กับคนในชุมชน

นอกเหนือจากกิจกรรมไพ่ทายความต้องการ เพื่อเรียนรู้ความต้องการของผู้อื่น ในการอบรมครั้งนี้ยังนำการเจริญสติมาใช้เพื่อสร้างพลังทางบวก ด้วยการหันกลับมามองตัวเอง ต่อด้วยการมองคนอื่นด้วยความเข้าใจ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า จิตติปัญญา

ผู้รู้หลายคนอธิบายว่า หลักการดังกล่าวเป็นจิกซอว์สำคัญในการสร้างการต่อสู้ตามแนวสันติวิธี ซึ่งเชื่อในการต่อสู้จากกลุ่มคนที่เป็นฐานรากของสังคม และปราศจากการใช้กำลัง แต่ใช้หลักการทางสติ เข้ามาขจัดปัญหาให้มองเขามองเราอย่างเข้าใจ

เพราะการเจริญสติเป็นหลักการพื้นฐานที่สอนให้มนุษย์เรายอมลดทอนกำแพงในใจ เมื่อต้องมองผู้ที่อยู่ตรงกันข้าม ย่อมมองด้วยสายตาของความเข้าใจ ไม่ใช่การปะทะ หรือเอาชนะ

แต่หากถามว่า การต่อสู้ด้วยวิธีการสร้างพลังจากแก่นของจิตใจนี้ จะสอนให้คนเรายอมหนีปัญหาหรือเปล่า

พระอาจารย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวถึงแนวทางการเจริญสติกับการต่อสู้ทางสังคมว่า เป็นการเสริมพลังในตัวเองมากกว่า ที่จะสอนให้มนุษย์ยอมละทิ้งต่อปัญหา แต่ขณะเดียวกัน ไม่ได้ต้องการให้คนเราติดยึดกับสิ่งสมมุติที่เป็นเปลือกของปัญหา และเป็นการเตือนสติไม่ให้อารมณ์ความรู้สึกมาครอบงำตนเอง

การอบรมเพื่อเรียนรู้การเท่าทันสติ เพื่อนำมาใช้กับกลุ่มคนรากหญ้า ถือเป็นการสร้างพลังทางสังคมที่เกิดกับกลุ่มคนระดับล่าง ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในหลากหลายเรื่องราว เช่น กรณีปัญหาที่ดิน ปัญหาเขื่อน เป็นต้น

อย่างน้อยที่สุด กลวิธีแบบ จิตตปัญญา สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับกลุ่มคนทุกชนชั้นในสังคม ไม่ใช่เรียนไปเพื่อการต่อสู้กับใคร หากแต่เป็นการเรียนรู้เพื่อที่จะเข้าใจตัวเอง และหันไปมองผู้อื่นด้วยสายตาที่เข้าใจกลุ่มคนที่คิดต่างจากเราได้ อย่างเข้าใจ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น