วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

โปรดเอื้อเฟื้อแก่คนปัญญาอ่อน (Idiots First)

โปรแกรมของคุณอาจไม่สนับสนุนการแสดงรูปภาพนี้เรื่อง: โปรดเอื้อเฟื้อแก่คนปัญญาอ่อน (Idiots First)
เขียนโดย: Bernard Malamud
แปลโดย: วิมล กุณราชา
สนพ.: นาคร
ปีพิมพ์: 2548


โปรดเอื้อเฟื้อแก่คนปัญญาอ่อน เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นโดยเบอร์นาร์ด มาลามัด นักเขียนระดับแนวหน้าชาวอเมริกันเชื้อสายยิว นอกจากนี้เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ เนชั่นแนลบุ๊คอะวอร์ด และออสการ์ด้วย ทั้งหมดเป็นการการันตีว่างานเขียนของเขาน่าจะมีวรรณศิลป์อันวิไลแน่นอน จะว่าไปแค่ชื่อหนังสือไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ-- Idiots First หรือภาษาไทยก็ดึงดูดให้ซื้อหามาไว้ในครอบครองอยู่แล้ว พอได้อ่านแต่ละเรื่องจบ ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง นั่นคือ อึ้ง จนทำให้ต้องอ่านซ้ำๆ อยู่หลายครั้งในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่เพราะความอ่อนด้อยในการรู้หนังสือ หรือมีเนื้อหาที่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านรู้จักใช้ความละเมียดละไมในการอ่านและใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆ ที่ผู้เขียนต้องการสื่อไปพร้อมๆ กับที่เหตุการณ์ ตัวละคร และเวลาก็เดินอย่างเนิบช้าไปตามจังหวะของมัน

เรื่องแรกเป็นเรื่องราวของเมเดลพ่อผู้ชราพยายามหาทางส่งลูกชายวัย 39 ปี ที่ไม่เต็มเต็งไปให้พี่ชายอายุ 81 ปี ช่วยดูแล เพราะเขาไม่อาจดูแลลูกต่อไปได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาต้องการเงินอีกเพียง 35 เหรียญเท่านั้น เพื่อสมทบกับเงินที่เขามีอยู่ก็จะได้เป็นค่าตั๋วรถไฟให้ไอแซค แต่การหาเงินเพียง 35 เหรียญนั้น ทำให้เราได้เห็นเส้นแบ่งของมนุษยธรรม มิสเตอร์ฟิชเบียงเป็นคนมีฐานะดีและชอบทำบุญ แต่การทำบุญนั้นมีเงื่อนไขว่าจะทำบุญอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่อย่างน้อยเขาก็เอื้อเฟื้ออาหารชั้นดีให้เมนเดลและลูกหนึ่งมื้อ การวอนขอของเมนเดลไม่สำเร็จและเขาก็ปฏิเสธอาหารมื้อนั้น จากนั้นเขาเดินทางไปหาแรบไบ นักบวชในศาสนายิวซึ่งมีครอบครัวได้ แรบไบไม่ได้ให้เงินอย่างที่เมนเดลต้องการ เขาบริจาคเสื้อโค้ทตัวใหม่ให้เมนเดล แต่ภรรยาของแรบไบคัดค้านและยื้อแย่งเมื่อหล่อนได้ยินเมนเดลหลุดปากว่า “ไชล็อค” ออกมา สองพ่อลูกวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว ในที่สุดพวกเขาก็มาถึงสถานีรถไฟ เมนเดลต้องวอนขอความมีมนุษยธรรมอีกครั้งและครั้งนี้อาจต้องแลกด้วยชีวิต

เรื่องต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับจดหมายและเทดดี้ เขาอายุประมาณ 50 ปี หรือมากกว่านั้น เป็นชายร่างสันทัด ท่าทางปวกเปียกอยู่ในชุดของโรงพยาบาล จดหมายที่แกถืออยู่ในมือก็คงจะแก่พอๆ กัน เพราะแกถืออย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นจดหมายซองสีฟ้าหนาปึกที่ไม่ได้ปิดผนึก ข้างในมีกระดาษสีขาวนวลสี่แผ่นซึ่งว่างเปล่าจากรอยขีดเขียนใดๆ ที่ฝั่งตรงข้ามของประตูโรงพยาบาลมีตู้ไปรษณีย์ตั้งอยู่และเทดดี้มักเอามือลอดช่องลูกกรงยื่นไปทางนั้นเสมอ เขาขอร้องให้นิวแมน ชายหนุ่มที่มานั่งเป็นเพื่อนพ่อทุกบ่ายวันอาทิตย์ที่โรงพยาบาลช่วยทิ้งจดหมายให้หน่อย อันที่จริงการเอื้อเฟื้อแก่เท็ดดี้นั้นทำได้ง่ายยิ่งนัก เพียงแค่ช่วยส่งจดหมายหรือรับไว้แล้วส่งคืน แต่นิวแมนก็ไม่เคยทำให้ เขาบอกให้เทดดี้เอาไปส่งไว้ที่ตู้ไปรษณีย์หน้าห้องทำงานแพทย์ตามตึกต่างๆ อยู่หลายครั้ง วันหนึ่ง เท็ดดี้ถามเค้าว่า “ทำไมคุณไม่ทิ้งจดหมายให้ผม?” / “ก็ในนั้นมันไม่มีอะไร” นิวแมนตอบ / “คุณว่าเอาเอง” สายตาของเท็ดดี้เหม่อมองข้ามไหล่ของนิวแมนไปที่ตู้ไปรษณีย์เวลาที่เขาพูดคุย ราล์ฟเองก็เช่นกัน เขาอายุ 80 ปี และเป็นพ่อของเท็ดดี้ ทั้งคู่เคยผ่านสงคราม วันอาทิตย์หนึ่ง สองพ่อลูกยืนขวางประตูเหม่อมองไปที่ตู้ไปรษณีย์กับคำถามที่มีต่อนิวแมนว่า “ทำไมคุณไม่ช่วยหย่อนลงตู้ตอนออกไป?” เขาไม่รับจดหมายแล้วเดินจากไป ราล์ฟยืนตัวสั่นงกเงิ่นอยู่ที่ประตู “คุณมาเยี่ยมใครที่นี่ทุกวันอาทิตย์” แกร้องถามนิวแมน / “พ่อของผม” / “เขาเคยไปรบในสงครามอะไร” / “สงครามในหัวแกนั่นแหละ” / “เขาได้รับสิทธิ์ออกมาเดินเล่นไหม” / “ไม่ เขาไม่อนุญาต” / “ผมหมายถึง เขาเป็นบ้าใช่ไหม” / “ถูกแล้ว” นิวแมนตอบพลางเดินหนี / “คุณก็เป็นบ้าเหมือนกัน” ราล์ฟตะโกนตาม / “ทำไมคุณไม่กลับเข้ามาข้างในนี้ มาเดินเล่นกับพวกเราสิ”

เมื่อหน้าสุดท้ายของหนังสือถูกปิดลง ความรู้สึก อึ้ง ที่บอกไปเมื่อตอนแรกก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มันเกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมที่อาจเป็นปัญหาคาใจมนุษย์ทุกคนเสมอมากับคำพูดที่ว่า “วันนี้ คุณเอื้อเฟื้อแก่ใครบ้างหรือหรือยัง !”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น