วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Bodyguards and Assassins 5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น

Bodyguards and Assassins 5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น
อุดมการณ์ของคนตัวใหญ่และคนตัวเล็ก

"ลักษณะเด่นของผู้ไม่บรรลุวุฒิภาวะคือ เขาต้องการตายอย่างสง่างามเพื่ออุดมการณ์ ขณะที่ลักษณะเด่นของผู้บรรลุวุฒิภาวะคือ เขาต้องการอยู่อย่างเจียมตนเพื่ออุดมการณ์"

โฮลเด้น คอลฟิลด์ในนิยาย The Catcher in the Rye ของ J.D. Salinger สำนวนแปลโดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

ในยุค Postmodern ที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกตรวจสอบคุณค่าใหม่อีกครั้ง ทั้งความดี ความชั่ว เวลา ความจริง และอื่นๆ อีกมากมาย แน่นอนว่า อุดมการณ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกสังคมหลังสมัยใหม่ตั้งคำถามถึงลักษณะและคุณค่าของมัน

ในในยุค Romantic age อย่างในสมัยก่อน อุดมการณ์อาจเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมเห็นพ้องต้องกัน และกลายเป็นสิ่งสูงค่าที่ถ้าใครยึดมั่นกับมันได้นานที่สุด คนนั้นถือเป็นยอดคน เช่น อย่างในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือตัวอย่างในภาพยนตร์ปลุกใจอย่างเรื่อง บางระจัน เป็นต้น แต่พอเวลาเปลี่ยนไป โลกได้เจอเหตุการณ์เลวร้ายหลายอย่าง เช่น สงครามเวียดนาม สงครามเย็น สงครามอิรัก หรือเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ในประเทศไทย ทำให้หลายสิ่งถูกตรวจสอบใหม่ การเสพย์ศิลปะแนวซาบซึ้ง (Appreciation) ถูกเปลี่ยนไปเป็นการส่องสำรวจ (Scrutinization) ถือเป็นการปิดฉากยุคโรแมนติคก็ว่าได้ เช่นเดียวกับอุดมการณ์จากที่มีไว้เพื่อให้ซาบซึ้งก็เปลี่ยนเป็นมีไว้เพื่อตรวจสอบ

ยิ่งในยุคที่การเมืองไทยตกอยู่ในความวุ่นวายอย่างในปัจจุบันนี้ อุดมการณ์ยิ่งถูกมองเป็นผู้ร้าย อาทิ เช่นคนที่ทำตามอุดมการณ์แบบนี้ คือ คนโง่ ถูกเงินซื้อมา ถูกนายทุนหลอก หรือคนใหญ่คนโตที่หวังใช้อุดมการณ์บังหน้าเพื่อทำสิ่งชั่วร้ายจูงจมูก เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย อย่างเช่น มุมมองที่ว่า อย่าไปสนใจอุดมการณ์เลย โยนมันทิ้งไป คนไทยมารักกันดีกว่า จุ๊บๆ เป็นต้น ซึ่งอุดมการณ์จะถูกมองว่าเป็นอย่างไร ก็คงต้องอยู่ที่มุมมองและสภาวะของสังคมนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร และมีปัจจัยภายนอกภายในที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอะไรบ้าง

หากจะหาหนังที่พูดถึงอุดมการณ์ออกมาได้เป็นรูปธรรมที่สุดและน่าสนใจที่สุด คงหนีไม่พ้นหนังจีนเรื่อง Bodyguards and Assassins หรือ 5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น ที่เพิ่งฉายในโรงไปเมื่อต้นปีมานี้เอง หนังเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของเท็ดดี้ ชาน อำนวยการสร้างโดยปีเตอร์ ชาน ซึ่งถ้าดูจากหน้าหนังภายนอกแล้ว เราอาจจะคิดว่ามันเป็นหนังแอ็คชั่นสู้กันด้วยกำลังภายในสะใจขาบู๊ธรรมดา แต่จริงๆ แล้ว หนังเรื่องนี้มีแง่มุมทางการเมืองที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น ประเด็นเรื่องสภาพสังคม ความขัดแย้งทางการเมือง ชนชั้น และอุดมการณ์ จนน่าเสียดายถ้ามันจะถูกมองข้ามด้วยเหตุผลที่ว่าหน้าหนังไม่น่าสนใจ

เนื้อเรื่องหลักของหนังเรื่องนี้ เป็นการนำเอาเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์มาเพิ่มเติมเสริมแต่ง โดยเหตุการณ์ในท้องเรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 1905 ในยุคสมัยที่จีนยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง ซุนยัดเซ็น ผู้นำการปฏิวัติของจีน ได้เดินทางมาประชุมลับกับหัวหน้ากลุ่มต่อต้านราชวงศ์ทั้ง 13 คน ที่เกาะฮ่องกงซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ โดยความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การรับรู้ของซูสีไทเฮา เธอจึงส่งกลุ่มมือสังหารฝีมือดีเพื่อมาจัดการปลิดชีวิตซุนยัดเซ็น แต่แผนการของเธอก็ไม่สำเร็จโดยง่ายดายขนาดนั้น เมื่อมีกลุ่มคนที่สนับสนุนซุนยัดเซ็น จัดตั้งกลุ่มผู้พิทักษ์ซุนยัดเซ็นเพื่อปกป้องเขาตลอดการประชุม และแล้วภารกิจอันตรายที่กินเวลา 5 ชั่วโมงและระยะทาง 13 ช่วงตึก ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

หากหนังเรื่องนี้นำเสนอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพระเอกและอีกฝ่ายเป็นผู้ร้ายสุดขั้วแบบขาวจัดดำจัด หนังเรื่องนี้ก็คงไม่น่าสนใจและถูกลืมไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่หนังเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุดมการณ์ คือ ทั้งฝ่ายซุนยัดเซ็นและฝ่ายมือสังหารของราชสำนัก เป็นผู้ยืนกรานว่าอุดมการณ์ที่ตัวเองยึดถือถูกต้อง และอุดมการณ์ของอีกฝ่ายต่างหากที่ผิดพลาด

อย่างตัวละครฝ่ายสนับสนุนซุนยัดเซ็น ที่ยึดมั่นอุดมการณ์สนับสนุนประชาธิปไตย มีอยู่ 3 คนที่น่าสนใจ คือ

-อาจารย์เฉิน อาจารย์และนักหนังสือพิมพ์ซึ่งหมั่นปลูกฝังอุดมการณ์ให้ลูกศิษย์ของเขาอยู่เสมอ และสนับสนุนซุนยัดเซ็นและอุดมการณ์ของเขาอย่างออกนอกหน้า

-เจ้าสัว ซึ่งแม้จะมีกิจการใหญ่โตแต่เขาก็แอบสนับสนุนเงินทุนให้กับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างลับๆ ไม่ออกนอกหน้า ลักษณะของตัวละครนี้ มีลักษณะเหมือนตัวละครชินเลอร์ในSchindler’s List หรือพระเอกใน Hotel Rwanda นั่นคือ เป็นนายทุนที่ไม่ใช่คนที่มีลักษณะของฮีโร่และหลายครั้งมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว แต่เมื่อเขาต้องเจอสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างความอยู่รอดของตัวเองกับการเสียสละ เขาก็เลือกที่จะเสียสละ

-นายน้อย ลูกชายเจ้าสัว ที่แม้จะถูกพ่อเลี้ยงเหมือนไข่ในหิน และปิดกั้นไม่ให้รู้เรื่องการเมือง แต่ด้วยการแอบสนับสนุนของอาจารย์เฉิน ทำให้เขาแอบซึมซับอุดมการณ์ของซุนยัดเซ็นจนขอเข้าร่วมขบวนการณ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็นด้วย ท่ามกลางการคัดค้านของเจ้าสัวผู้เป็นพ่อ เขาเป็นตัวแทนของวัยรุ่นไฟแรงผู้ฝักใฝ่อุดมการณ์และมีความฮึกเหิมทางการเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ชมหลายคนจะรู้สึกอินกับตัวละครตัวนี้เป็นพิเศษ

ซึ่งแม้ทั้ง 3 คนต่างก็มีท่าทีการสนับสนุนการปฏิวัติที่ต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งสามคนมีเหมือนกันนั่นคือ พวกเขานับถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยของซุนยัดเซ็นอย่างเต็มตัว ซึ่งหากพิจารณาแล้ว พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ลำบากด้วยการปกครองของราชวงศ์ชิง ตรงข้าม พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มที่ได้เปรียบทางสังคมด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าพวกเขาอยู่เฉยๆ พวกเขาก็จะยังอยู่แบบสบายๆ ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะสละหลายสิ่งในชีวิตเขาเพื่อผลักดันอุดมการณ์นั้นให้ไปถึงยังจุดหมาย

ในอีกแง่หนึ่ง กลุ่มลอบสังหารซุนยัดเซ็นของราชสำนักก็ใช่ว่าจะถูกทำให้เป็นผู้ร้ายใจโฉดไร้จิตใจหรือคนที่คิดถึงแต่อามิสสินจ้างเพียงอย่างเดียว เพราะหัวหน้ากลุ่มลอบสังหารก็มีภูมิหลังเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉิน แถมยังเคยไปร่ำเรียนถึงต่างประเทศที่เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่เขากลับยืนยันว่า ประเทศจีนในตอนนี้ไม่เหมาะกับการมีประชาธิปไตย เพราะคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน การสนับสนุนราชสำนักทำให้การเมืองเสถียร อีกทั้งการสนับสนุนประชาธิปไตยในจีนก็เหมือนเป็นการกระทำที่เข้าทางอังกฤษซึ่งตอนนั้นกำลังใช้อำนาจปกครองฮ่องกงท่ามกลางความเจ็บปวดใจของชาวจีนอยู่ เขาจึงยืนยันที่จะยังสนับสนุนราชสำนักและกำจัดกลุ่มคนที่จะเข้ามาล้มล้างราชวงค์ชิงอย่างซุนยัดเซ็นด้วยความคิดที่ว่าสิ่งที่เขาทำคือสิ่งที่ถูกต้อง

นอกเหนือจากตัวละครที่เต็มเปี่ยมอุดมการณ์ทางการเมืองดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ในหนังยังมีตัวละครเอก 5 คนซึ่งเป็นที่มาของชื่อหนัง นั่นคือ “5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น” นั่นคือ

-เฉินตงหยาง อดีตตำรวจผู้ติดการพนันผู้ยอมเข้าร่วมภารกิจนี้ เพราะอยากให้ลูกสาวของตัวเองรู้ถึงผู้ให้กำเนิดตัวจริง

-คุณชายหลิว อดีตคุณชายผู้กลายเป็นขอทาน เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตที่เขาไปรักผู้หญิงผิดคน เขาเข้าร่วมขบวนการณ์เพราะอยากพิสูจน์คุณค่าในตัวเองก่อนตาย

-อาซื่อ คนลากรถผู้ภักดีต่อเจ้าสัวและนายน้อย เขากำลังจะแต่งงานกับสาวร้านถ่ายรูป 1 วันหลังเสร็จภารกิจ เขาเข้าร่วมขบวนการเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณเจ้านาย

-ฟางหง หญิงสาวในโรงงิ้ว ผู้เข้าร่วมขบวนการเพราะต้องการสืบสานภารกิจต่อจากพ่อของตัวเองที่ถูกฝ่ายราชสำนักฆ่าตาย

-เต้าหู้เหม็น อดีตหลวงจีนวัดเส้าหลิน ผู้เข้าร่วมขบวนการเพราะศรัทธาในตัวเจ้าสัว (มีสมาชิกในเวปพันทิป ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระในวัดเส้าหลินมีความแค้นต่อราชวงศ์ชิง เนื่องจากราชวงศ์ชิงได้กวาดล้างทำลายวัดเส้าหลิน)

จะเห็นว่า ที่ 5 พยัคฆ์ได้เข้าร่วมปฏิบัติการนี้ เป็นเพราะพวกเขาต่างก็มีอุดมการณ์เหมือนกับอาจารย์เฉินหรือเจ้าสัว ซึ่งเป็นหัวหน้าทีม เพียงแต่อุดมการณ์ของพวกเขาต่างจากอุดมการณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองของเจ้าสัวและอาจารย์เฉิน สาเหตุที่ทั้ง 5 พยัคฆ์ได้เข้าร่วมขบวนการนั้น ไม่เกี่ยวกับความศรัทธาในตัวด็อกเตอร์ซุนยัดเซ็นหรือสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยเลย (ตัวละครหลักบางตัว อ่านหนังสือไม่อ่าน ต้องให้คนรักเขาช่วยอ่านข้อความในหนังสือของซุนยัดเซ็นให้ เพราะเขาอยากรู้ว่า คนที่เขากำลังจะสละชีพช่วยเหลือนั้นเป็นอย่างไร) แต่อุดมการณ์ของ 5 พยัคฆ์นั้นอาจจะดูเล็กน้อยและเป็นเรื่องส่วนตัวกว่า เพราะเกี่ยวกับเรื่องศักดิ์ศรีตัวเอง การล้างแค้น ทดแทนบุญคุณ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาต่างก็สู้ตายเพื่ออุดมการณ์ของพวกเขาเหมือนกัน แม้อุดมการณ์ของพวกเขาจะไม่ยิ่งใหญ่หรือส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศอย่างอุดมการณ์ประชาธิปไตย (ผมอดคิดเพ้อเจ้อไม่ได้ว่า ถ้าตัวละครเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนชั้นกลางในประเทศนึงว่า ถูกเจ้าสัวหลอกใช้หรือถูกจ้างมา มาคุ้มครองซุนยัดเซ็นนี่รู้จักประชาธิปไตยดีหรือเปล่า กลับบ้านไปเถอะ Welcome back, Chinese หรือขอความสุขกลับคืนให้บ้านเมืองในการปกครองโดยราชวงศ์ชิงเป็นต้น)

แน่นอนว่า ถ้าเรามีมุมมองต่ออุดมการณ์ในแง่มุมบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือถูกมองเป็นเรื่องโรแมนติก ผู้ประท้วงหรือผู้ขับเคลื่อนอุดมการณ์นั้นต้องขับเคลื่อนด้วยพลังบริสุทธิ์ ห้ามใช้เงินจ้าง ห้ามคนที่ไม่มีอุดมการณ์ดังกล่าวมาเข้าร่วม เราก็อาจจะมองว่า เหล่า 5 พยัคฆ์เป็นเพียงเบี้ยบนกระดานที่ถูกผู้มีอำนาจเหนือพวกเขาหยิบฉวยมาหาผลประโยชน์ แต่ถ้าเรามองมันอีกแง่มุมนึง นั่นคือ มองว่าอุดมการณ์ไม่ใช่สิ่งบริสุทธิ์ที่ลอยอยู่บนพื้นโลก หรือผุดขึ้นมาลอยๆ แต่ผ่านการขับเคลื่อนหลายวิธี การขับเคลื่อนอุดมการณ์ด้วย เราก็อาจจะมองมันเป็นกลยุทธในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ ซึ่งนั่นก็อยู่ที่มุมมองของผู้มอง

แน่นอนว่า อุดมการณ์ก็ต้องอาศัยกลยุทธในการขับเคลื่อน การ Simplified หรือ Romanticize อุดมการณ์จนเกินควรจนหลงลืมพื้นฐานแห่งความจริง มีแต่จะทำให้การขับเคลื่อนอุดมการณ์นั้นเป็นไปอย่างผิดพลาดและประสบกับความล้มเหลว ได้แม้ว่าเจตนาของเราจะดีแค่ไหนก็ตาม

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ชื่อไทยจะมีคำว่าซุนยัดเซ็น จนหลายคนคาดหวังว่าจะได้เห็นหนังประวัติชีวิตของเขา แต่เอาเข้าจริงแล้ว เขากลับเป็นตัวละครที่แทบไม่มีการถูกพูดถึงเลย แน่นอนว่า ผู้ชมคงแทบไม่ลุ้นกับชะตากรรมของซุนยัดเซ็นเพราะย่อมรู้ดีว่า ตอนหลังด็อกเตอร์ซุนยัดเซ็นก็สามารถรอดชีวิตไปทำการปฏิวัติการปกครองในจีนได้ในที่สุด (เว้นแต่ผู้สร้างหนังจะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่แบบหนัง Inglourious Basterds) ความสนุกของหนังเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การลุ้นว่า เหล่าตัวละครผู้คุ้มครองคุ้มครองซุนยัดเซ็นจะรอดหรือเปล่า นั่นทำให้หนังเรื่องนี้จึงเปรียบได้กับมหากาพย์ของคนตัวเล็ก ต่างจากลักษณะของหนังการเมืองทั่วไปที่มักจะเน้นที่คนตัวใหญ่หรือผู้มีอำนาจทั้งหลาย

ตัวละครหลักในกลุ่ม 5 พยัคฆ์ทุกคนล้วนแต่เป็นคนชายขอบทางสังคม ดูได้จากอาชีพของแต่ละคน อย่างขอทาน นักพนัน คนเล่นงิ้ว คนลากรถ พระเส้าหลิน ซึ่งถ้าเป็นหนังประวัติศาสตร์ทั่วไปที่แนวโน้มมักจะพูดถึงแต่ตัวละครตัวใหญ่ๆ (โดยเฉพาะหนังไทย จะเห็นได้ชัด) ตัวละคร 5 พยัคฆ์เหล่านี้คงไม่ได้รับการพูดถึง ตัวละครใน 5 พยัคฆ์ทุกคน มีชีวิตที่ล้มเหลว ไม่มีใครเป็นฮีโร่ในรูปแบบที่หนังเรื่องอื่นเป็น แต่สุดท้ายทุกคนก็ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายเต็มที่อย่างไม่คิดชีวิต หนังยังสร้างความเป็นบุคคลสำคัญให้ตัวละครเล็กๆ เหล่านี้ด้วยการขึ้นปีเกิดและปีตายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สงวนให้กับบุคคลสำคัญเท่านั้น ราวกับว่าภารกิจดังกล่าวได้อัพเกรดให้พวกเขากลายเป็นบุคคลสำคัญ

อีกสิ่งนึงที่น่าพูดถึง คือ โครงสร้างของหนัง หากพิจารณาแบบคร่าวๆ เราจะพบว่า ตัวหนังถูกแบ่งเป็นสองส่วนชัดเจน คือ ช่วงแรก เป็นส่วนที่ทำให้เห็นถึงชีวิตตัวละคร ภูมิหลัง ปูเรื่อง เป็นหนังดราม่า สวยทางกับช่วงครึ่งหลังที่หนังกลับคือสู่ความเป็นหนังกำลังภายใน มีฉากการต่อสู้ที่น่าประทับใจหลายฉาก แต่นั่นก็ทำให้หนังมีข้อบกพร่องเหมือน District 9 คือ ตัวหนังไม่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน มีรอยสะดุดระหว่างสองช่วงตัวระหว่างความจริงจังอย่างมากในครึ่งแรกและความโอเวอร์อย่างมากของฉากต่อสู้ในครึ่งหลัก

คุณชญานิน เตียงพิทยากร กัลยาณมิตรทางการดูหนังของผมได้ให้ข้อสังเกตที่แหลมคมว่า หนังเรื่องนี้มีอะไรบางอย่างให้เราเชื่อมโยงไปถึงหนังเรื่อง October Sonata รักที่รอคอย นั่นคือ ในหนังมีการออกแบบตัวละครนักฆ่าที่ดู Old-Fashioned และเป็นการเอาขนบของหนังจีนกำลังภายในมาใส่ในตัวนักฆ่าที่เรามักจะเจอในหนังจีนกำลังภายในซึ่งมีฉากหลังอยู่ในยุคการปกครองโดยฮ่องเต้มาปะทะกับกลุ่มตัวละครที่เป็นตัวแทนของกลุ่มความคิดสมัยใหม่ เช่นเดียวกับหนัง October Sonata ที่นำโครงสร้างของหนังรักน้ำเน่ามารับใช้บริบททางการเมืองของหนัง

อีกสิ่งที่น่าคิด ผู้ที่เสียชีวิตในภารกิจทั้งหมด ล้วนแต่เป็นคนที่อยู่ในกลุ่ม 5 พยัคฆ์ ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับเจ้าของอุดมการณ์ตัวจริง ขอไม่ขยายความอะไรมากไปกว่า แม้ประวัติศาสตร์จะหมุนเวียนไปสักกี่วงล้อ แต่ศพแรกที่ต้องเสียชีวิตก็หนีไม่พ้นคนตัวเล็กๆ แม้เหตุการณ์ในเรื่องจะเกิดในหนังที่พูดถึงคนตัวเล็กๆ แต่พวกเขาก็ยังหนีวงล้อชะตากรรมแบบนี้ไปไม่พ้น เช่นเดียวกับการปฏิวัติต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหลือเกิน

หมายเหตุ – หนังเรื่องนี้ปัจจุบันมีจัดจำหน่ายและให้เช่าในรูปแบบวีซีดีและดีวีดีลิขสิทธิ์

บทความโดย บดินทร์ เทพรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น