วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เรื่องของเขาที่เกี่ยวข้องกับเรากับคนอื่นๆ

คอลัมน์ สัปปะรดกวน
เจ้าของคอลัมน์ เล็กหมีพูห์
ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2552

ชื่อเรื่อง เรื่องของเขาที่เกี่ยวข้องกับเรากับคนอื่นๆ
โดย เล็ก หมีพูห์

ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมอ่านข่าวสั้นข่าวหนึ่งทางเวบบล็อกของคุณสุทธิชัย หยุ่น เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ ซึ่งปกติข่าวประเภทนี้ ผมมักจะอ่านแบบผ่าน ๆ ไปอย่างรวดเร็ว แค่พอได้อับเดต แต่คราวนี้ ผมกลับสนใจเนื้อหาข่าวจริงจัง จนต้องตามไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในภาคภาษาอังกฤษอีกที

ที่ทำให้ผมติดอกติดใจข่าวเล็ก ๆ นี้ นั่นก็เป็นเพราะผมคิดว่าข่าวนี้มีความใกล้ชิดกับเราๆ ท่าน ๆ อย่างมากมาย ถ้าหากผมเฉลย ก็จะรู้ว่า เออนะ มันช่างใกล้ตัวเราจริง ๆ เสียด้วย

ถ้าผมจะถามว่า ทุกวันนี้เราทุกคนใช้อินเตอร์เน็ตกันในชีวิตประจำวันหรือเปล่า ผมว่าโดยส่วนใหญ่คงจะใช้มันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะชาวชมรมแสงเล็ก ย่อมต้องพยักหน้ายอมรับอย่างเถียงไม่ขึ้นเลยใช่มั้ยครับ อิอิ

แล้วถ้าถามต่อไปว่า ใครไม่รู้จักหรือไม่เคยใช้กล้องถ่ายรูปดิจิตอลบ้าง ก็คงไม่มีใครปฏิเสธถึงอิทธิพลของมัน ที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราเสียแล้ว

ผมอยากจะบอกว่าข่าวที่ผมจะเอามาฝากในครั้งนี้ เป็นข่าวเกี่ยวกับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาทั้งระบบอินเตอร์เน็ตและกล้องดิจิตอล ในแง่รากฐาน ที่ทำให้วิถีชิวิตของประชาคมโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปชนิดพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

ทั้งหมดมีสามคน สองคนเป็นฝรั่ง อีกหนึ่งคนเป็นชาวเอเชีย

ชาวเอเชียคนนั้น ถือสัญชาติอังกฤษและอเมริกัน แต่ภูมิลำเนาเกิดที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน อายุ 75 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นเรามาเรียกแกว่าคุณลุงก็แล้วกันนะครับ คุณลุงแกชื่อ ชาร์ลส เกา

ลุงเกาเป็นผู้ที่วางพื้นฐานความสำเร็จในการส่งสัญญาณแสง ผ่านระบบใยแก้วนำแสง เพื่อใช้ในการสื่อสารระบบออพติค ผลจากการพัฒนาของลุงเกา ทำให้เราสามารถส่งข้อความ ดนตรี ภาพ และวีดีโอไปทั่วโลกในเวลาไม่กี่วินาที โดยใช้พลังงานเพียงน้อยนิด
พูดง่าย ๆ ว่าทุกวันนี้ที่เราเล่นอินเตอร์เน็ต เช่น ไฮไฟว์ เฟซบุ๊ค ส่งข้อความ ส่งภาพ ส่งเพลง ส่งหนังกันสนุกสนานนั้น เราไม่รู้ว่าลุงเกาแกต้องอดตาหลับขับตานอน พัฒนาเส้นใยแก้วนำแสงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ผู้เขียนอายุเพียง 5 ขวบเท่านั้นเอง (อยากรู้ว่ากี่ปีแล้ว เข้าไปดูเฟซบุ๊คของผู้เขียนสิจ๊ะ) เพื่อใช้เป็นตัวกลางในการส่งผ่านแสง ซึ่งต่อมานำมาใช้ลำเลียงข้อมูลดิจิตอล ส่งข้ามโลกกันได้อย่างง่ายดายในทุกวันนี้ ลองคิดดูว่าถ้าลุงเกาไม่ได้พัฒนารากฐานตรงนี้ไว้ เราอาจจะยังต้องคุยกันทางโทรศัพท์บ้าน แทนที่จะแชทกันผ่านเอ็มเอสเอ็น เราอาจจะแบ่งปันภาพถ่ายกัน โดยการเอารูปไปล้าง แล้วอัดลงกระดาษโกดัก แล้วเอาไปส่งไปรษณีย์ ติดแสตมป์ แล้วหย่อนตู้ ซึ่งอาจจะสูญหายกลางทางได้อีก ส่วนเพื่อนเราซึ่งอยากดูรูปที่เราคุยโม้ไว้ ก็รอจนหายอยาก ก็ยังไม่ได้รับภาพที่ส่งมาเสียที

และแล้วโลกก็ถูกเชื่อมโยงด้วยใยแก้วนำแสง ซึ่งว่ากันว่าหากนำเส้นใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออพติคนี้มาคลี่ออกจากกัน ให้กลายเป็นเส้นเดียวแล้วล่ะก็ มันจะยาวมากกว่าหนึ่งพันล้านกิโลเมตรเลยทีเดียวนะครับ ซึ่งยาวเพียงพอที่จะพันล้อมรอบโลกได้มากกว่า 25000 รอบ และเชื่อหรือไม่ครับว่า ทุก ๆ ชั่วโมงที่ชีวิตเราดำเนินไป ก็มีการวางเส้นใยแก้วนี้ มากขึ้นกว่าพันกิโลเมตรต่อชั่วโมง

สรุปแล้ว ความง่ายดายในยุคดิจิตอลที่ชีวิตเราได้รับนั้น มีลุงเกาเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาใยแก้วนำแสง ดังนั้นขอให้เรา สมาชิกชมรมแสงเล็ก มองภาพลุงเกา และอธิษฐานขอให้ลุงเกาอายุมั่นขวัญยืนหมื่น ๆ ปีนะครับ


ฝรั่งอีกสองคนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ คือคุณลุงวิลลาร์ด บอยล์ ชาวแคนาดา วัย 85 ปี และคุณลุงจอร์จ สมิธ อเมริกัน วัย 79 ปี จากการประดิษฐ์ CCD เซ็นเซอร์ หรือตัวรับภาพในกล้องดิจิตอลนั่นเอง ซึ่งมันได้เข้ามาทำหน้าที่แทนฟิล์มถ่ายรูปอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้น้อง ๆ รุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักกล้องที่ใช้ฟิล์มกันแล้วว่าหน้าตาเป็นยังไง

ลุงวิลลาร์ด บอยล์ และ ลุงจอร์จ สมิธ

เรื่องเซ็นเซอร์รับภาพหรือซีซีดีทำให้เราบันทึกภาพส่งถึงกันได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องกลัวสิ้นเปลืองเงินในการล้างฟิล์มอีกต่อไป คนรุ่นผู้เขียนนั้นเติบโตมาในยุคใช้ฟิล์ม ฟิล์มกลักละ 120-150 บาท ถ่ายได้แค่ 36 รูป แถมไม่รู้ด้วยว่าที่ถ่ายมาหน้าจะมืดไปหริอสว่างไป ตัวเซ็นเซอร์ที่ทำหน้าที่แปลงแสงเป็นพิกเซล จึงเป็นนวัตกรรมที่มหัศจรรย์แห่งยุค ที่ทั้งลุงบอยล์และลุงสมิธได้สร้างคุณูปการณ์อันยิ่งใหญ่ และทำให้สมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้อย่างแท้จริง

เห็นมั้ยล่ะครับ ว่าลุงท่านทั้งสามเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากมายจริง ๆ เพราะอยู่เบื้องหลังความสะดวกสบายของเรานี่เอง


แต่ในความสะดวกสบาย ผมก็อดจะเตือนตัวเองไม่ได้นะครับว่า ในโลกที่เราดำเนินชีวิตอยู่นี้ มันรวดเร็วมาก รวดเร็วขนาดที่ว่าเรามักจะไม่ค่อยมองย้อนหลังกลับไปดูว่าใครทำอะไรเพื่อโลกนี้มาบ้าง อย่างกับว่าเทคโนโลยีความสะดวก สบายมันเกิดขึ้นของมันเอง โดยไม่มีใครประดิษฐ์คิดค้นอย่างนั้นแหละ เราอ่านแต่ข่าวเทคโนโลยีแล้วถ้าชอบก็ซื้อมาบริโภค จะดีกว่ากันมั้ยถ้าเราจะรู้ว่าสิ่งโน้นสิ่งนี้ ใครกันนะที่ทำมันขึ้นมา เพราะถ้าเรารู้ เราคงไม่บ้าบริโภคกันมากเกินไป และเราคงหันเหความสนใจไปในทางอื่น เช่น เราคงอยากรู้ว่าซีซีดีมันทำงานยังไง มากกว่าที่จะอยากรู้ว่ากล้องรุ่นไหน มันถ่ายได้ละเอียด 20 ล้านพิกเซล แล้วเราก็รู้แค่ว่ารุ่นไหน ๆ ทำอะไรได้ แต่เราก็ไม่รู้ซักทีว่าอะไรคือ พิกเซล อะไรคือ ซีซีดี

นักวิชาการและนักคิดบ้านเรามักจะบอกว่า ประเทศไทยล้าหลังก็เพราะว่าเราไม่พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ผมมานึก ๆ ดูแล้ว ใช่ว่าคนไทยรู้วิทยาศาสตร์แล้ว เราจะเจริญไปได้เทียบเท่าฝรั่ง ผมกลับนึกย้อนศรว่า เพราะคนไทยเรากำลังสูญเสียคุณธรรมพื้น ๆ หรือเปล่า เช่น เรื่องความสำนึกรู้คุณคน เพราะเราคงไม่ลืมนะครับว่า เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีพระคุณต่อกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น

อย่างลุงเกา ลุงบอยล์ และลุงสมิธ เป็นตัวอย่างไงล่ะครับ

เล็ก หมีพูห์
9 ตุลาคม 2552

creativecommons
แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ต้นฉบับ
http://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/3.0/deed.th

1 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดที่สำคัญ ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ แต่เป็นของมนุษยชาติ

    ตอบลบ