วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ค้นคว้า ฟ้าดาว...ตอน มองยังไงเห็นอย่างนั้น

วันนี้เสนอสัจธรรมที่ได้จากการดูดาว
หลายคนชอบถามว่า นักดาราศาสตร์วัน ๆ ทำอะไรกัน ก็ตอบง่าย ๆ ค่ะ คือ "ดูดาว" เพียงแต่ว่า ในการดูดาวของเราไม่ได้เพียงแค่ชื่นชมความงามของดาวบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน (หรือกลางวัน เพราะนักดาราศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ก็เฝ้าสังเกตดวงไฟใหญ่นั้นได้เพียงในตอนกลางวันเท่านั้น) การดูดาวของเรา คือการดูสิ่งที่ดาวส่งมาให้ยังโลก นั่นก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นต่าง ๆ กันค่ะ
.
บางท่านที่อาจะไม่คุ้นกับภาษาวิทยาศาสตร์ที่น่าปวดหัว ข้าเจ้าจะขอใช้คำเปรียบเทียบง่าย ๆ แล้วกัน
คืออย่างนี้นะคะ.... อะไรก็ตามที่มีอุณหภูมิสูงกว่า -273 องศาเซลเซียส จะปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาค่ะ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้ พูดง่าย ๆ ก็คือพลังงาน โดยคลื่นจะมีชื่อเรียกหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับระดับพลังงาน เรียงจากพลังงานมากไปพลังงานน้อยดังนี้ค่ะ
.
รังสีแกมม่า - พลังงานสูงมากทะลุโลหะบางชนิดได้
รังสีเอ๊กซ์ - ทะลุเนื้อหนังมังสาได้
รังสียูวี (ultra-violet หรือ รังสีเหนือม่วง)- ทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำ
แสง - ตามองเห็นได้เป็นสีต่าง ๆ ตั้งแต่ สีม่วง(พลังงานมากสุด) ถึงสีแดง (พลังงานน้อยสุด)
รังสีอินฟราเรด (infra-red หรือใต้แดง หรือคลื่นความร้อน) - ทำให้ร้อน
เรด้า ตลอดจน คลื่นวิทยุ - ไม่เป็นอันตรายแก่สิ่งมีชีวิต ส่งสัญญาณได้
.
นักดาราศาสตร์ก็แค่เลือกช่วงคลื่นที่ตัวเองอยากจะศึกษา(ไปตลอดชีวิต เพราะพอเลือกแล้วต้องแยกกันไปเรียนเลย เรียนจบกลับมา มักคุยกันมิรู้เรื่องค่ะ ฮ๋า ๆๆ) จึงเป็นเหตุให้เกิดนักดาราศาสตร์วิทยุ นักดาราศาสตร์ช่วงแสงที่ตามองเห็น นักดาราศาสตร์อินฟราเรด ฯลฯ ขึ้น
.
.
แล้วข้าเจ้าเลกเช่อร์มาถึงตรงนี้ไปทำไม หรือคะ ?
.
.
เพียงอยากจะบอกว่า ดวงดวงเดียวกัน หรือวัตถุท้องฟ้าเดียวกัน ก็ปล่อยพลังงานมาให้นักดาราศาสตร์แต่ละคนเหมือน ๆ แต่สิ่งที่เค้าแต่ละคนเลือกที่จะดูนั้น แตกต่างกัน
.
จากการเรียนดาราศาสตร์มา ก็สอนให้ข้าเจ้ารู้สัจจธรรมมาอย่างน้อยก็เรื่องนี้ "เรามองด้วยอะไร ก็เห็นแบบนั้น" ถ้าเป็นนักดาราศาสตร์ช่วงแสงที่ตามองเห็น ก็มิอาจจะมองเอกภพในช่วงคลื่นวิทยุได้ (ยกเว้นว่าจะไปเรียนต่อเพิ่มสาขาดาราศาสตร์วิทยุ) ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อเรามองโลกด้วยอคติ ก็มิอาจเห็นโลกสวงามได้
ภาพที่นำมาฝากทั้ง 4 รูป เป็นภาพของเนบิวลาหนึ่งซึ่งห้อยอยู่ในตำแหน่งดาบนายพราน ของกลุ่มดาวนายพราน ชื่อของเนบิวลานี้คือ M43 (เนบิวลาใหญ่ด้านล่างของภาพ) และ M42 (เนบิวลาเล็กด้านบนซ้ายของภาพ) รูปที่ 1 เป็นรูปที่ถ่ายโดยรับเอาเฉพาะช่วงคลื่นที่ตามองเห็นถ่ายโดยข้าเจ้าเอง รูปที่ 2 ก็เป็นรูปที่ถ่ายโดยรับเอาเฉพาะช่วงคลื่นที่ตามองเห็นถ่ายโดยผู้อื่น รูปที่ 3 เป็นช่วงคลื่นความร้อน จะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน แม้รูป 1 และ 2 จะมีเป็นคลื่นระดับเดียวกัน แต่ผู้ถ่ายคนละคน ใช้ฟิลเตอร์ (แผ่นกรองแสง) ไม่เหมือนกัน ก็ได้เก็บภาพที่ธรรมชาติให้มาได้ไม่เหมือนกัน
.
ไม่ต้องมองออกนอกโลกก็ได้ แค่มองต้นไม้ข้างบ้านแบบชิล ๆ แล้วเอากระดาษแก้วสีแดง(ขอเรียกว่า ฟิลเตอร์สีแดง) มาส่องเป็นแว่น ก็จะเห็นโลกเป็นสีแดงหมด เพราะฟิลเตอร์จะกรองแต่แสงสีแดงเข้าตา ถ้าใช้ฟิลเตอร์สีน้ำเงิน ก็จะเห็นโลกน้ำเงินหมด ถ้าใช้ฟิลเตอร์ความรัก ก็จะเห็นโลกเป็นสีชมพู เกิดเป็นโรคความรักบังตา :)
.
การเปลี่ยนฟิลเตอร์ จึงเป็นเหมือนการเปลี่ยนมุมมอง และฝึกคิดแบบแยกส่วน คิดหลาย ๆ ด้าน แล้วจะเห็นว่าสิ่งนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง (ถูกชิมิคะเนี่ย!?)
.
พอเข้าใจแบบแยกแล้ว ก็จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ฝุ่นที่ล่องลอยอยู่ทั่วไประหว่างตาเรากับดาวดวงนั้น มันไร้สาระและบดบังทรรศนวิสัย จะทำอย่างไรให้สามารถมองข้ามฝุ่นในชั้นบรรยากาศไปได้ อเมริกาจึงส่งกล้องโทรทรรศน์ที่ชื่อว่าฮับเบิลออกไปเก็บภาพในอวกาศ และได้ภาพที่ 4 กลับมา (ภาพ 4 ถ่ายในช่วงคลื่นตามองเห็นได้โดย Hubble Space Telescope) การฝึกมองให้แจ่มชัดเหมือนได้ภาพเนบิวลาจากกล้องฮับเบิลนี้ ข้าเจ้าว่าชาวพุธโชคดีมากที่มีธรรมะเป็นวิชาบังคับเลือกอยู่ในสังคมอยู่แล้ว เนื้อหารายวิชาก็เน้นขจัดฝุ่นในจิตใจให้หมดไป แล้วแต่จะเลือกลงทะเบียนเรียนรึเปล่า
.
ทั้งหมดที่กล่าวมา ข้าพเจ้าลงเรียนภาคทฤษฎีแล้วค่ะ ขาดแต่ภาคปฏิบัติที่สอบตกอยู่เสมอมา
.
.
โลก ยังมีสีอื่นที่เรายังมองไม่เคยมองเห็น
ฟ้ารุ่ง สุรินา
12 ต.ค. 2552

5 ความคิดเห็น:

  1. ชื่อคอลัมน์ คือ "ค้นคว้า ฟ้าดาว" หรือว่า "ค้นฟ้า คว้าดาว" ?
    ถ้าต้องการให้แก้ไขบอกมาได้ที่เฮียนะจ๊ะ

    ตอบลบ
  2. เดี๋ยวเปลี่ยนให้นะ เรื่องคว้า...เรื่องฟ้า ส่วนเรื่องอคติ หรือ ฟิลเตอร์มองโลกนั้น ยอมรับว่า เลือกกันยาก ประสบการณ์(ภายในลึกๆแบบไร้เหตุผล)หรือเรียกว่าสัญชาติญาณมันสั่ง! ให้ระวัง เช่น สิงโตเดินมา จะมองโลกแบบคิตตี้ สิงโตน่ารักจัง ท่าทางขนจะนุ่ม มันก็ดูจะเป็นเรื่องอาโนเนะไปหน่อยไหม? ยอมรับว่ามองอย่างไรก็เห็นอย่างนั้น หรือ อยากจะเห็นอย่างไรก็เห็นอย่างนั้น ... ความจริงต้องระบุพิกัด เพราะความจริงในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงง่ายและเร็วยิ่งกว่าอารมณ์มนุษย์

    ตอบลบ
  3. อีกอย่างการมองโลก ไม่ได้ใช้แค่ตา เพราะฉะนั้น บางครั้ง ฟิลเตอร์สีอะไรก็ไร้ความหมาย

    ตอบลบ
  4. ก็ "ฟิลเตอร์" ในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงแค่สีไง แสดงว่าการเขียนของเมต้องปรับปรุงมากๆนะเนี่ย ขนาดผู้รับสื่ออย่างเฮียยังไม่เข้าใจผู้เขียนเลย

    ตอบลบ