วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Review Books Reflex Lives by Tuck

เรื่อง ท่าอากาศยานต่างความคิด
เขียนโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์
สำนักพิมพ์ GM BOOKS
ปีพิมพ์ 2552

การเดินทางเป็นภาวะหนึ่งของสิ่งมีชิวิตและสิ่งไร้ชีวิต อาจเคลื่อนที่หรืออยู่กับที่ด้วยตัวเองหรือพาหะอื่นๆ การเดินทางมีหลากหลายรูปแบบ หลายเส้นทางและวิถีทาง แต่สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่คนเดินทางมากกว่าว่าจะเลือกเส้นทางใดให้กับตัวเอง ในอดีตการเดินทางเป็นไปเพื่อการขัดเกลาตัวเอง เพื่อละทิ้งอัตตาหรือความยึดมั่นในตัว เพื่อหลอมตัวเองเข้ากับโลกรอบๆ แต่ปัจจุบันการเดินทางของผู้คนกลับเป็นการแสวงหาสิ่งที่คิดว่าสำคัญโดยที่ไม่อาจรู้ว่า หรือไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นคืออะไร

ท่าอากาศยานต่างความคิด นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางไว้อย่างน่าสนใจและทำให้เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกนับครั้งไม่ถ้วนว่า การเดินทางของเรานั้นมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหนและจะสิ้นสุดลงเมื่อใด การเดินทางที่ว่าเป็นการเดินทางภายใน เป็นการเดินทางของความคิดและจิตใจ อาจจะเดินทางเพื่อค้นหาจริยธรรม คุณธรรมที่มีอยู่ในจิตใจตน ดังคำกล่าวในนิกายเซนวว่า หากเราเดินทางตามความเชื่อที่ว่าเราทุกคนล้วนมีศักยภาพแห่งการเป็นบุคคลที่พร้อมตื่นจากอวิชชาอยู่ในตัว ความเชื่อเช่นนั้นสำคัญกว่าการรู้คำสอนมากมาย และหากเราเชื่อว่าสิ่งปฏิกูลที่เกาะเกี่ยวจิตใจอยู่นั้นล้วนถูกชำระทิ้งได้ การเดินทางตามความเชื่อนั้นก็น่าจะเป็นบททดสอบหนึ่งในสภาวะที่ชีวิตหาความเชื่อมั่นได้น้อยเต็มที มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนโดยเฉพาะเรื่องของความคิด แม้มันจะไม่มีชีวิต ไม่อาจจับต้องได้ แต่มันเป็นสิ่งที่เดินทางอยู่ตลอดเวลาและอยู่เหนือการควบคุมใดๆ ความคิดสามารถเดินทางกลับไปในอดีตได้เพราะอดีตเป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในความทรงจำ ความคิดเดินทางสู่อนาคตได้แม้จะมีข้อจำกัดแต่ก็สามารถคาดการณ์ได้ แต่ปัจจุบันคือสถานที่ที่ความคิดมีส่วนร่วมเดินทางมากที่สุด หากเราเข้าใจปัจจุบัน เราจะเริ่มมีส่วนร่วมและเลิกแบ่งแยกตัวเองออกจากสิ่งต่างๆ เราจะรู้สึกว่าเราอยู่ในโลกใบนี้อย่างแท้จริงและไม่ได้อยู่ในโลกใบนี้อย่างโดดเดี่ยว ในไม่ช้าเราจะได้รู้จักความจริงที่ยิ่งใหญ่และซ่อนเร้นกว่าที่แฝงอยู่ในธรรมชาติ

การเดินทางของมนุษย์เปรียบได้กับการเยียวยาจิตใจ เราเดินผ่านสิ่งต่างๆ ที่เราอาจไม่เคยรู้สึกถึงมันแม้จะเป็นการกระทำของตัวเราเอง แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาสะกิดต่อมความรู้สึก เราถึงกับร้องไห้อย่างต่อเนื่องไม่หยุด การเดินทางไปพร้อมๆ กับตัวละครทั้งในวรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์และอื่นๆ ก็เช่นกัน “ใช่...ทุกความปวดร้าว ทุกหยดน้ำตาล้วนขึ้นอยู่กับเรา” ดังประโยคสุดท้ายในเรื่อง ประวัติศาสตร์น้ำตา

เมื่อเราเดินทางมากขึ้น เชื่อมั่นในเส้นทางของตนเองมากขึ้น เราจะยอมรับความแตกต่างจากคนอื่นได้หากเขาจะมีทางเดินเป็นของตนเอง เพราะนั่นหมายถึงการเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ แต่หากเราออกเดินทางอย่างไร้จุดหมาย ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่แยแสใคร หลงลืมผู้อื่นและหลงลืมแม้กระทั่งตัวเอง เป็นการเดินทางอย่างลุ่มหลง และเมื่อกระบวนการคิดไม่สามารถควบคุมสภาพจิตใจได้ การเดินทางเที่ยวนั้นอาจกลายเป็นการทำลายล้างผู้อื่นและตัวเองก็เป็นได้


หากมนุษย์ตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่
รักษาคุณสมบัติของการมีชีวิตอยู่โดยอยู่อย่างเจียมตน และเข้าใจเรื่องความตาย คงจะทำให้การออกเดินทางในแต่ละครั้งมีความหมายและรุ่มรวยไปด้วยสุนทรียะมากขึ้น ดั่งการซาบซึ้งกับศิลปะแบบ Memento Mori ที่ปรากฏอยู่ตามหลุมฝังศพหรือชั้นใต้ดินของอาสนวิหาร เพราะความตายนั้นไร้รูปและอาจแปรไปได้ในทุกสิ่ง อยู่ร่วมได้ในทุกสิ่ง มันอาจปรากฏตัวต่อหน้าเราโดยเราไม่รู้ตัวและอาจฝังตัวอย่างเงียบๆ ใน “ความเป็น” ของชีวิตเรา

นอกจากการเดินทางภายในแล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้ยังเปิดโลกทัศน์นักเดินทางให้มองไปยังโลกภายนอกเพื่อให้รู้ว่าแม้ความคิดและจิตใจของเราจะเดินทางอย่างไม่หยุดพัก แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระลึกไว้เสมอคือ Tempus Fugit -- เวลานั้นโบยบิน มันโบยบินอย่างต่อเนื่อง และไม่ย้อนคืน ดังสมดุลที่ไม่เคลื่อนที่สำหรับสิ่งมีชีวิต และปรากฏในลักษณะเดียวคือ... ความตาย


เขียนโดย
ภิมลพรรณ อุ่นแก้ว

อาจารย์ประจำสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Creative Commons License
ท่าอากาศยานต่างความคิด โดย ภิมลพรรณ อุ่นแก้ว อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.

1 ความคิดเห็น: