วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ดื่มน้ำชา ชมฟ้า มองดาว ตอนที่ 2

ดื่มน้ำชา ชมฟ้า มองดาว

กว่าจะได้มาซึ่งน้ำชาอุ่นๆ ที่เป็นที่ประทับใจของผู้ดื่มทั่วโลกนั้น ยอดชาหรือใบชาเขียวๆ ในไร่ หรือในป่าจะถูกนำมาเข้าขบวนการผลิตที่พิถีพิถัน ที่อาศัยความชำนาญและภูมิปัญญาของชุมชนผู้ผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ชาแห้งที่เมื่อนำไปชงด้วยนำร้อนแล้วจะได้นำชาที่มีกลิ่นหอม รสชาติดี รวมทั้งมีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นสมุนไพรที่หลายชนชาติใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

วันนี้ขอพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชาไทย ว่ามันเหมือนหรือต่างจากชาจีน ชาญี่ปุ่นอย่างไรนะครับ จริงๆ แล้วชาเหล่านี้ได้มาจากพืชชนิดเดียวกันคือมาจากต้นชา ชื่อวิทยาศาสตร์ก็คือ Camellia sinensis แต่ก็จะมีสายพันธุ์ย่อยๆ แตกต่างกันออกไป รวมทั้งมีการปรับปรุงคัดเลือกสายพันธุ์ที่สามารถนำไปผลิตชาได้หลากหลายตามวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และตามความต้องการของตลาด

ชาในเมืองไทยก็มีหลายสายพันธุ์ ที่เด่นๆ ก็จะมีอยู่สองชนิดได้แก่

1. ชาสายพันธุ์จีน เช่นพันธุ์อูหลง (ก้านอ่อน) พันธุ์อูหลงเบอร์ 12 พันธุ์ชิงชิงอูหลง เป็นต้น ชาสายพันธุ์จีนเหล่านี้จะปลูกมากบนดอยแม่สะลอง มีการนำเอามาผลิตชาแบบกึ่งหมัก หรือชาอูหลงที่มีกลิ่นหอม และเนื่องจากมีกรรมวิธีผลิตที่ซับซ้อน และต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง ชาอูหลงจึงมีราคาค่อนข้างแพง

2. ชาสายพันธุ์อัสสัม เรียกกันว่าชาอัสสัม หรือบางพื้นที่เรียกว่าต้นเมี่ยง เพราะว่าในบางท้องถิ่นแทนที่จะนำเอาชาชนิดนี้มาทำชาแห้งเพื่อชงดื่ม แต่กลับนำใบชาไปหมักเพื่อให้ได้เป็นเมี่ยงที่ใช้เคี้ยวทานเป็นอาหารว่างของบางท้องถิ่น ชาอัสสัมนี้เหมาะสำหรับการทำชาเขียว และชาดำ ชาอัสสัมจะมีการปลูกเยอะกว่าชาสายพันธุ์จีน พบมากในหลายจังหวัดเช่น เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ที่เชียงรายนั้นปลูกมากที่ ดอยวาวีอำเภอแม่สรวย และดอยพญาไพรเขตอำเภอแม่จัน

อยากดื่มชาแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จะซื้อชาจากที่ไหน ยี่ห้อไหน ชนิดไหน ถึงจะได้ชาดีมีคุณภาพ? ผมมักจะถูกถามด้วยคำถามนี้เสมอ ผมว่าการที่จะเลือกซื้อชาให้ถูกต้องควรจะไปร้านชาที่เขาให้ทดลองดื่มก่อน เพื่อจะได้ทดลองดูว่าชอบชารสชาติแบบไหน ชอบอูหลงที่ทำจากพันธุ์ชาชนิดไหน หรือชอบชาเขียวมากกว่า แล้วยังขึ้นอยู่กับงบประมาณถ้าซื้อชาอูหลงราคาก็จะสูงเมื่อเทียบกับชาเขียว แต่คุณประโยชน์โดยรวมนั้นก็จะไม่แตกต่างกันมากนักเพราะมีนักวิจัยตรวจพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในใบชาเหล่านี้มีค่าสูงใกล้เคียงกัน ที่เหลือก็จะเป็นการพิจารณาว่าชาที่ได้นั้นเป็นชาที่ได้จากยอดชาที่สมบูรณ์ไหม มีความชื้นต่ำ มีการปนเปื้อนจากเศษใบและก้านใบน้อยๆ มีบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท สะดวกต่อการนำไปใช้เป็นต้น

บางคนดื่มชาที่ร้านที่เขาให้ชิมอร่อยมาก ชอบ แต่พอซื้อกลับไปบ้านชงเอง ทำยังไงก็ไม่หอมเท่า หรือไม่อร่อยเหมือนชิมที่ร้าน นี่ก็เป็นอีกคำถามที่หลายๆ คนสงสัย ประเด็นนี้จะขึ้นอยู่กับน้ำที่ใช้ชงเป็นหลัก ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าน้ำที่ใช้ชงชาแล้วให้รสชาติน้ำชาที่ดีควรเป็นน้ำที่ผ่านการกรองด้วยเครื่องกรองน้ำ อาจจะเป็นน้ำขวดที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ไม่ควรใช้น้ำแร่ หรือน้ำที่มีคลอรีนในการชงชาเพราะจะทำให้รสชาติผิดเพี้ยนไป อุณหภูมิของน้ำที่ใช้ก็สำคัญ น้ำควรเดือดได้ที่สำหรับชาอูหลง และถ้าเป็นชาเขียวก็ควรร้อนประมาณ 80-90 องศาเซลเซียสถึงจะได้น้ำชาที่หอม และไม่แช่นานจนเกินไปเพราะชาที่ได้จะขม ปริมาณชาที่ใช้ก็ควรพอประมาณไม่น้อยหรือมากเกินไป และชาแห้งที่ผ่านการชงเกินสามครั้งรสชาติก็จะไม่ดีเท่าตอนชงในครั้งแรกๆ เป็นต้น

โชคดีนะครับที่เดี๋ยวนี้ทางจังหวัดเชียงรายได้ทำสัญลักษณ์มาตรฐานเอาไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ชาที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเวลาเลือกซื้อก็ให้พิจารณาว่าชายี่ห้อนั้นได้รับตราสัญลักษณ์ชาเชียงรายที่เป็นรูปมือถือใบชาอยู่ไหม ถ้ามีก็มั่นใจได้ว่าร้านชา หรือชนิดชาที่ซื้อมานั้นมีคุณภาพชาที่ดีผ่านเกณฑ์ของจังหวัด ส่วนรสชาติก็ต้องทดลองชิมก่อนซื้ออย่างที่ผมบอกไว้ข้างต้น ผมไม่แนะนำให้ซื้อชาโดยที่ไม่ทดลองชิมก่อน และร้านที่ซื้อต้องเชื่อถือได้ว่าที่ทดลองชิมกับที่อยู่ในถุงนั้นเป็นชาคุณภาพเดียวกัน

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาเชียงรายหาอ่านได้จากเว็ปไซต์ชาของจังหวัดนะครับ www.chiangraiteacity.com

-พนม-




1 ความคิดเห็น: