“...เราคือเชลยสงคราม เราถูกสั่งให้ฝัน เราไม่เป็นคนของแผ่นดินใด ล่องเรือไปในทะเลปั่นป่วน ไม่มีท่าให้จอดทอดสมอ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง ความโศกเศร้าของเราก็มากเกินพอ ความสุขที่มีก็ไม่ใช่ความสุขจริงแท้ ความฝันของเราไม่ใหญ่ และชีวิตของเราก็ไม่เคยสำคัญพอ ไม่มีอะไรให้ยึดถือได้เลย...”
อรุณธตี รอย
ตลอดปีมานี้ ฉันได้ฟังเรื่องแย่ๆ ของใครต่อใครมากมาย มันไม่สนุกเลย แต่คนมีความทุกข์คงไม่สนุกกว่าฉันหลายเท่า
บางครั้งลำพังแค่การเข้าใจกันมันไม่พอ
เรื่องของความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกันทางความคิด ความเหงาที่ไม่อาจเยียวยาของคนหนุ่มสาว การต้องอดทนกับเรื่องคี่ๆ ไม่ใช่เรื่องคู่ๆ เรื่องของคนที่มีความรู้สึกอยากตายอยู่ในทุกลมหายใจเข้าออก
ความหดหู่มันอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าโลกจริงหรือโลกเสมือน ทั้งรู้จักและไม่รู้จัก ดูไร้หนทางเยียวยาพอๆ กัน
บางทีฉันก็อยากบอกคนเหล่านั้นไปว่า อย่าทนเลย เพราะมันเหนื่อย บางทีฉันก็อยากบอกใครบางคนไปว่า เลิกรักเสียที เพราะเธออกหักมาเป็นปีแล้ว ใครๆก็โดดเดี่ยวด้วยกันทั้งนั้น และเอาล่ะใครที่อยากตายนัก ก็ลองไปตายดู เผื่อถ้ารอดตายกลับมาจะได้บอกคนที่อยากตายคนอื่นๆ ว่ารสชาติและประสบการณ์ในการลองตายมันเป็นไง
แค่ความเข้าใจกันมันไม่พอหรอก
จู่ๆ ฉันก็คิดขึ้นมา หากฉันเศร้า เสียงร้องไห้ของฉัน ตัวโน้ตของมันจะมีสีอะไร
ว่าแล้วก็มาฟังเพลงหม่นหมองกันเถอะ มัวหัวเราะอยู่ทำไม มาร้องไห้ใส่กันไม่ดีกว่าหรือ
:: :: :: ::
Anthony and the Johnsons | The Crying Light
แค่เห็นปกซีดี ก็กลืนน้ำลายเสียแล้ว เสียงสกุล dark cabaret หม่นๆ หมดอาลัยตายอยาก ฉันคิดว่าอาจจะเป็นเพราะเครื่องดนตรีบางชิ้นอย่าง เชลโลและไวโอลินนั้นมีส่วนอย่างมาก ที่ทำให้เพลงมันเหงาได้ขนาดนั้น ฉันยังจำ The Lake ใน EP เมื่อปี 2004 ได้
Springing from a darkened mind
So lovely was the loneliness
In youth’s spring, it was my lot
In its stilly melody
An Eden of that dim lake
An Eden of that dim lake
Lone, lone, lonely…
The Crying Light เป็นชุดที่สาม คล้ายจะเป็นการ follow ต่อจาก I am a Bird Now ชุดก่อนหน้า ชุดนี้มีออเคสตราเข้ามาด้วย แค่เจอเสียงโหยหลอนของ Her Eyes Are Underneath the Ground แทรคแรกก็แทบจะรีดเลือด
ฉันชอบภาพบนปกซีดี เป็นภาพถ่ายปี 1977 ของช่างภาพ Naoya Ikegami ในภาพคือ Kazuo Ohno นักแสดง Butoh (Butoh เป็นการแสดงอย่างหนึ่งมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น ผู้แสดงมักทาหน้าขาว ท่าทางในการแสดงเคลื่อนไหวเชื่องช้า กิริยาหลอกหลอน หน้าตาไร้อารมณ์ ตีความการแสดงไปได้ต่างๆนานา ซึ่งก็คงไม่พ้นไกลไปจากเรื่องความสุขทุกข์ของมนุษย์) ใครอยากเศร้าก็เอาเลย ข้าพเจ้าแนะนำให้ฟังเสียง Anthony Hegarty
:: :: :: ::
Nick Drake*
คงไม่ต้องบอกแล้วว่า Nick Drake คือใคร เพราะเขียนไปก็ซ้ำกับคนอื่น
ฉันชอบ Nick Drake ฉันแค่ชอบความเจ็บปวดของเขา ชอบความเศร้าของเขา ชอบที่เขาไม่รู้สึกเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของที่ไหนเลย ชอบที่เขาเป็นโรคนอนไม่หลับ ชอบที่เขาเป็นคนแปลกแยก ชอบความเจ็บปวดที่เขาเขียนมันออกมาเป็นเพลง และเหนืออื่นใด ฉันชอบความตายของ Nick Drake
Who’s to care if they lose.
And take a look you may see me on the ground
For I am the parasite of this town.
And take a look you may see me in the dirt
For i am the parasite who hangs from your skirt.
เคยสังเกตไหมว่า ความเจ็บปวดและความเดียวดาย มักดูมีเสน่ห์ และบางครั้งฉันคิดว่า ผู้คนฟังเพลงของ Drake เพราะชีวประวัติของเขา มันช่างดูโรแมนติกเสียเหลือเกินที่ได้เจ็บปวดกับชีวิตและตายลงเช่นนั้น และมันช่างดูน่าหลงใหล น่าภาคภูมิเสียเหลือเกิน ถ้าได้เอ่ยกับกลุ่มคนในวงสนทนาว่า “อืม เศร้า เพลงของเดรกมันเศร้า และฉันก็ฟังมัน ฟังมันทุกวัน เธอละ รู้สึกยังไงกับเพลงของ Drake ?”
ฉันไม่ชอบเสียงร้องของเดรกหรอก เสียงเครื่องดนตรีของเขาฉันก็ไม่ชอบ ฉันชอบสิ่งที่เขาเขียนมากกว่า
เมื่อเขาบอกว่า
Now I’m darker than the deepest sea
Just hand me down, give me a place to be.
บางครั้งแค่การจ่อมจมอยู่กับเพลงของเขาแค่ชั่วครู่ชั่วยาม มันก็อาจทำให้เรารู้สึกว่างโหวง จนถึงกับต้องเอามือจับที่อกดูว่าหัวใจมันยังวางอยู่ในที่ที่มันเคยอยู่ไหม
:: :: :: ::
yndi halda | Enjoy Eternal Bliss
วงดนตรีชื่อประหลาดจากฝั่งอังกฤษ แรกที่ได้เห็นชื่อ ‘yndi halda’ เอาละเว้ย มันอ่านออกเสียงยังไง ค้นไปค้นมา พบว่าคำนี้เป็นภาษาสก๊อตโบราณ ออกเสียงว่า ‘ยินดิ ฮาลดา’ ความหมายของคำนี้ก็ Enjoy Eternal Bliss (ชื่อเดียวกับชื่อ EP)
อันที่จริงดนตรีของ yndi halda ไม่ได้เศร้าหรอก แค่ฟังแล้วรู้สึกหม่นหมอง นึกเห็นภาพความหนาวเหน็บ ทางเดินทอดยาวขาวโพลนไปด้วยหิมะ และเราก็ต้องย่ำไปบนเส้นทางนั้น อย่างเนิบนาบ อย่างเชื่องช้า จะหยุดพักระหว่างทางก็หนาวสั่น จะเดินต่อไปก็ไร้เรี่ยวแรง ร้องไห้และยิ้ม ถอนหายใจแล้วหัวเราะ สลับกันไป
Enjoy Eternal Bliss นั้นเป็น EP มีสี่แทรค ทุกเพลงเป็นบรรเลง แต่ละแทรคยาวสิบกว่านาที ดนตรีเนิบเนือยจะค่อยๆดังกระชั้นขึ้นเรื่อยๆ และบางทีก็หยุดไปซะงั้น
ฉันฟังแล้วรู้สึก เหมือนดนตรีคล้ายจังหวะชีวิตของฉันในตอนนี้
-ข้างนอกนั้น ผู้คนสับสนวุ่นวาย ปัญหา ซับซ้อนและยอกย้อน ผิดกับข้างในนี้ ที่ที่ฉันยืนอยู่ ไม่มีอะไรเลย มันว่างเปล่าสิ้นดี กลวงเสียจนบอดใบ้-
:: :: :: ::
---------
* หากสนใจอ่านเรื่องของ Nick Drake
‘ดนตรีที่มีน้ำตา’ (สำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่น โดย ปราบดา หยุ่น)
ได้บอกเล่าเรื่องของ Drake ไว้อย่างน่าสนใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น