ผู้เขียน "ศรีเจริญรัฐ"
ตอนที่ 2 ...เหตุเพราะ... "ดาวเด่นลอยเล่นฟ้า จึ่งได้ ประเดิมธง" ...
...สวัสดีครับทุกท่าน...
...ค่ำวันก่อน (17 ธันวาคม 2552) มีโอกาสได้ไปร่วมงานประชาสัมพันธ์การก่อสร้างพระเจดีย์ไม้ไผ่สานของวัดป่าอ้อร่มเย็น ภายใต้แนวคิด "...เรียบง่ายนั้นงดงาม..." ณ บ้านพักส่วนตัวของmjkoอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ แห่งอุทยานเครื่องปั้น "ดอยดินแดง" อันสงบงดงาม นับเป็นงานบุญที่มีลักษณะแตกต่างไปจากหลายๆ งานที่เคยไปร่วม ผมได้มีโอกาสพบคนคุ้นเคยมากหน้าหลายตา ที่ไม่คุ้นก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เชื่อว่าทั้งหมดนั้นคงจะเดินทางมาก็ด้วยเหตุเดียวกัน คือการมาร่วมทำบุญสนับสนุนการสร้างพระเจดีย์ไม้ไผ่สานให้สำเร็จลุล่วงไปตามกุศลเจตนาของทายกทายิกา ศรัทธาบ้านใกล้บ้านไกลนั่นเอง สิ่งที่น่าชื่นชมยินดีนั้นมิได้มีแต่สถานที่ การแสดง และอาหารการกินที่คณะเจ้าภาพต่างเต็มใจจัดหามา "ฮอม" เท่านั้น หากยังรวมไปถึงกุศลเจตนาของทุกท่านทั้งเจ้าภาพผู้จัดและแขกผู้มาร่วมงานอีกด้วย ขออนุโมทนามา ณ โอกาสนี้ครับ...
.
.
.
...สารัตถคดีขนาดสั้นว่าด้วยเรื่องราวจากดวงดาวในผืนธงสำหรับเดือนนี้ จะขอนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับดวงดาวที่ปรากฏในธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เพิ่งเฉลิมฉลองอายุครบ 60 ปีไปหมาดๆ ซึ่งก็ทันสมัยกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่เข้าฉายในประเทศไทยในช่วงเวลาที่เขียนอยู่นี้พอดี นั่นคือ เรื่อง "มังกรสร้างชาติ (The Founding A Republic)" ที่ รวม(ดาราดัง)เลือดเนื้อชาติเชื้อจีนมาแสดงเป็นการกุศลมากกว่าร้อยชีวิต เพื่อสื่อสารให้ชาวโลกเห็นถึงประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ของจีน ภายใต้ผืนธงสีแดงสดสว่าง ซึ่งประดับด้วยดาวสีเหลืองทองใหญ่น้อยรวมห้าดวงตลอดเวลาของการต่อสู้เพื่อความสมานฉันท์อันยิ่งใหญ่ตามเจตจำนงของประธานเหมาเจ๋อตง บุคคลสำคัญระดับตำนานของโลก เสียดายที่อยู่เสียปลายอ้อปลายแขม ไม่ได้มีโอกาสได้ดูในวิกกับใครเขา ก็คงจะต้องรอจนมีแผ่นมาจึงจะได้ดู ...
รูปที่ 0 ใบปิด (Poster) โฆษณาภาพยนตร์เรื่องมังกรสร้างชาติ
ที่มา http://twssg.blogspot.com/2009/11/founding-of-republic.html
...ธงแดง "เบญจสุวรรณดารา" (Five Star Red Flag) นั้นเป็นรูปแบบธงชาติที่ชนะการประกวดแบบธงชาติจีนใหม่เมื่อ 60 ปีก่อน โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ระหว่างวันที่ 15-26 กรกฎาคม 2492 โดยกำหนดโจทย์ให้แบบที่ส่งเข้าประกวดว่าต้องประกอบไปด้วย "อำนาจและความเป็นจีน ที่ต้องปรากฏอยู่บนผืนธงสีแดงสดสว่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า" ซึ่งเป็นโจทย์ที่กว้างมากๆ ทำให้มีแบบร่างส่งมาถึงคณะกรรมการพิจารณาถึง 2,992 แบบ จากทั่วประเทศ (ปริมาณ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2492)...
...คณะกรรมการทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ จนได้ผู้เข้ารอบสุดท้าย (finalists) รวม 38 แบบ เพื่อเสนอให้ โจวเอินไหล แม่กองใหญ่ของงานนี้ นำเสนอต่อที่ประชุม สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน หรือ The Chinese People's Political Consultative Conference (CPPCC) ครั้งที่ 1 พิจารณาต่อไป ซึ่งที่ประชุมนั้นก็ได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ต้นแบบได้รับการยอมรับมากที่สุดได้แก่แบบหมายเลข 32 ดังปรากฏในภาพที่ 1
รูปที่ 1 "ต้นแบบที่ 32" ของเจิงเหลียนซง
ที่มา http://www.cbw.com/btm/issue71/62-63.html
...ภาพต้นแบบดังกล่าวนี้เป็นฝีมือการออกแบบของ เจิงเหลียนซง (Zeng Liansong / 曾聯松) มือออกแบบสมัครเล่นจากอำเภอรุ่ยอัน (Rui'an: 瑞安) มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเขาได้เปิดเผยในภายหลังว่าแรงดลใจในการออกแบบผุดขึ้นมาเพราะได้ใช้เวลาหลังเลิกงานประจำมองดูดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้ายามค่ำคืน โดยมีการอธิบายแนวคิดในการออกแบบดังต่อไปนี้...
...ดาวสีเหลืองทองดวงใหญ่ด้านในสุด ประดับตราค้อนและเคียว แทนการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะที่ดาวสีเหลืองทองอีกทั้งสี่ดวงทางด้านข้างแทนกลุ่มประชาชนตามแนวคิดของประธานเหมาที่แบ่งประชาชนจีนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กรรมกร ชาวไร่ชาวนา คนชั้นกลาง และนายทุนซึ่งจะรวมตัวกันและพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ก็โดยอาศัยพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำ ด้วยถือคติว่า พรรคนั้นเป็นดวงดาวที่ช่วยชีวิตให้รอด หรือ the great savior (大救星) ของชาวจีนทั้งมวล...
รูปที่ 2 แบบธงขั้นสุดท้ายที่ท่านผู้นำช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้กลายเป็นธงแดงเบญจสุวรรณดาราก่อนประกาศให้เป็นธงชาติอันสมบูรณ์ในเวลาต่อมา
ที่มา http://www.flagdetective.com/china-flag.htm
...เหตุที่เลือกสีเหลืองทองเป็นสีประจำดาวเพื่อให้สว่างตัดกับพื้นหลังสีแดง (ซึ่งว่ากันว่า แต่เดิมนั้นเป็นสีแดงหม่นแทนเลือดเนื้อที่สละได้เพื่อการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ แต่โจวเอินไหลขอเปลี่ยนสีให้สว่างขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนส่งแบบธงเข้าประกวด) ก็เพื่อที่จะสื่อให้เห็นว่า ประเทศนี้ย่อมเป็นของชาวจีนทุกชั้นชน และทุกเชื้อชาติ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของดาวห้าแฉกที่มีการให้ความหมายเพิ่มเติมในภายหลังว่าใช้แทนกลุ่มชาติพันธุ์หลักทั้งห้าที่ถือเสมือนเป็นตัวแทนของชาวจีนทุกเผ่า ได้แก่ชาวฮั่น ชาวแมนจู ชาวมองโกล ชาวมุสลิม และชาวทิเบต ...
...มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่สมาชิกในที่ประชุมมีความเห็นไม่ลงกัน นั่นคือ การนับเอานายทุนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนในประเทศซึ่งแย้งกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่ต้องการกำจัดนายทุน แต่ด้วยความที่เจิงเหลียนซงได้ร่างแบบขึ้นตามหลักการของประธานเหมาซึ่งเน้นความเป็นปึกแผ่น และการขับเคลื่อนร่วมกันของกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทำให้ประธานเหมาและโจวเอินไหลที่ชอบใจในแบบร่างดังกล่าวกลายเป็นแนวร่วมของเจิงผู้เป็นเจ้าของแบบร่างที่ 32 ในการหว่านล้อมสมาชิกคนอื่นๆ ให้คล้อยตาม...
...เมื่อประธานเหมาออกหน้า คงไม่ต้องอธิบายต่อว่าผลออกมาเช่นไร...
...ดังโบราณว่าไว้..."ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า ก็ใครเล่าจะไม่งามตามเสด็จ"...
...วันที่ 27 กันยายนศกนั้นจึงมีการประกาศผลให้แบบร่างที่ 32 ชนะการประกวด "ด้วยคะแนนเอกฉันท์" พร้อมกันนั้นรัฐบาลได้สั่งให้ตีพิมพ์แบบร่างที่ชนะการประกวดลงในหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้นทั่วประเทศเพื่อให้มีการผลิตธงไว้ใช้พร้อมกันในวันที่ 1 ตุลาคมที่กำลังจะมาถึง ซึ่งถือเป็น "วันสถาปนาชาติ" อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลปักกิ่งมอบหมายให้ช่างเสื้อชื่อ เจ้าเหวินเร่ย Zhao Wenrei (赵文瑞) รับผิดชอบในการตัดเย็บธงชาติผืนแรกให้เสร็จทันวันงาน ซึ่งเธอก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลผิดหวัง เพราะ ธงผืนนั้นตัดเย็บเสร็จในบ่ายวันที่ 30 กันยายนซึ่งทันพิธีการสวนสนามพอดี...
รูปที่ 3 เมื่อธงชาติผืนแรกปลิวไสวในวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ตุลาคม 2492
ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง
ที่มา http://www.china.org.cn/pictures/60th_anniversary/2009-08/20/content_18372175.htm
...เมื่อแรกที่มีการประกาศผลนั้น เจิงเหลียนซงได้เห็นประกาศ ก็รู้สึกว่าคุ้นกับแบบที่ตนเองเคยเสนอไปในการประกวด แต่ก็ไม่กล้าเชื่อว่าแบบที่ชนะป็นแบบจากความคิดของเขา เพราะได้ข่าวว่ามีผู้เสนอแบบไปเป็นจำนวนมาก แบบที่ชนะนี้อาจเป็นของคนอื่นก็ได้ และที่สำคัญ ตราค้อนเคียวที่ประดับไว้กลางดาวดวงใหญ่นั้นได้อันตรธานไปเสียแล้ว...
...จนเมื่อทางรัฐบาลมีหนังสือแจ้งผลการประกวดแสดงความยินดีกับเขาอย่างเป็นทางการ เจิงจึงเข้าใจและดีใจเป็นอย่างยิ่ง เขาได้ทราบภายหลังว่าคณะกรรมการได้เสนอให้มีการนำตราค้อนเคียวออกไป เนื่องจากดูคล้ายกับธงของสหภาพโซเวียตมากจนทำให้รู้สึกว่าจีนกลายเป็นอาณานิคมของสหภาพโซเวียต และไม่ลืมที่จะบอกให้เขาชื่นใจว่าธงที่ออกแบบมานั้นถูกใจท่านผู้นำประเทศทั้งสองเป็นอย่างมาก...
รูปที่ 4 เจิงเหลียนซงในวัยสนธยา ก่อนเสียชีวิตในปี 2542 ซึ่งธงชาติที่เขาออกแบบมีอายุได้ 50 ปี
ที่มา http://razx.cn/xxgk/xy/200604/20060407100209.html
...นอกจากความปลาบปลื้มยินดีแล้ว รัฐบาลยังได้มอบเงินรางวัลให้เขาอีก 5 ล้านหยวน เพื่อเป็นค่าตอบแทน และได้รับเชิญให้ไปร่วมชมพิธีสวนสนามของกองทัพปลดแอกประชาชนในปีถัดมา รวมทั้งการเฉลิมฉลอง 30 ปีสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองขนาดใหญ่อีกด้วย เขากลายเป็นบุคคลสำคัญของชาติขึ้นมาในแทบจะทันที...
...แต่กระนั้น เจิงก็มักจะไม่แสดงตนว่าเป็นคนสำคัญ หากใครมาถามเกี่ยวกับความสำเร็จของการออกแบบ คำตอบที่ได้ก็คือ ที่ทำได้นั้นมิใช่เพราะเป็นศิลปิน แต่ความคิดมันออกมาจากความรู้สึกรักชาติที่ฝังลึกอยู่ในใจมานาน ตั้งแต่ครั้งญี่ปุ่นบุกแล้วชาวจีนทั้งหลายต่างร่วมกันฟื้นญี่ปุ่นจนเป็นอิสระได้สำเร็จ ซึ่งเขาก็เป็นคนหนุ่มอีกคนหนึ่งซึ่งร่วมรบในสงครามครั้งกระนั้น เมื่อเสร็จศึกก็มาเป็นคนงานธรรมดาๆ เช่นเดียวกันกับเมื่อวันที่ผู้คนเลิกสงสัยว่าใครเป็นเจ้าความคิดในแบบของธงชาติ เจิงเหลียนซงก็กลับไปเป็นคนตัวเล็กๆ ของสังคมดังเดิม กระทั่งจากโลกนี้ไปในวัย 82 ปี...
...เรื่องราวของดวงดาวในธงชาติจีนก็คงต้องยุติเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ คราวต่อไปจะเป็นธงชาติใดนั้นขอท่านผู้อ่านอดใจไว้ปีหน้านะครับ สำหรับคราวนี้เห็นทีจะต้องกล่าวคำว่า สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า ขอทุกท่านมีความสุขมากๆ นะครับ...
...19 ธันวาคม 2552...
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.cbw.com/btm/issue71/62-63.html
http://en.wikipedia.org/wiki/Flag_of_the_People's_Republic_of_China
http://razx.cn/xxgk/xy/200604/20060407100209.html
http://www.china.org.cn/pictures/60th_anniversary/2009-08/20/content_18372175.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น