วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ซูเปอร์โนวาชนิดใหม่ มาเร็วไปเร็ว


21 ธันวาคม 2552
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)

นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบซูเปอร์โนวาชนิดใหม่ ซึ่งอาจเป็นซูเปอร์โนวาที่พัฒนาเร็วที่สุดเท่าที่เคยค้นพบกันมา

เมื่อเจ็ดปีก่อน มีซูเปอร์โนวาเกิดขึ้นในดาราจักรเอ็นจีซี 1821 ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวกระต่ายป่า ซูเปอร์โนวานี้ได้ชื่อตามระบบว่า เอสเอ็น 2002 บีเจ (SN 2002bj) ซึ่งในตอนนั้น นักดาราศาสตร์จัดประเภทไว้เป็นซูเปอร์โนวาประเภท 2 (Type II supernova)

แต่ไม่นานมานี้ โดวี โปซนันสกี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กเลย์ ได้ศึกษาคลังภาพของเอสเอ็น 2002 บีเจที่ถ่ายโดยกล้องเคต (KAIT--Katzman Automatic Imaging Telescope) ของหอดูดาวลิกในซานโฮเซ แคลิฟอร์เนีย เขาพบว่าซูเปอร์โนวานี้พัฒนาเร็วกว่าซูเปอร์โนวาทั่วไป อีกทั้งยังมีความสว่างน้อยกว่าปกติ มีเส้นสเปกตรัมของฮีเลียมเด่นชัด และไม่มีเส้นสเปกตรัมของไฮโดรเจน ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องจัดให้เป็นซูเปอร์โนวาชนิดใหม่ เรียกว่าชนิด .1 เอ เนื่องจากซูเปอร์โนวานี้มีความสว่างเพียงหนึ่งในสิบของซูเปอร์โนวาชนิด 1 เอ

ในขณะที่ซูเปอร์โนวาทั่วไปจะส่องสว่างประมาณ 3-4 เดือน แต่ซูเปอร์โนวาชนิดใหม่นี้มีช่วงเวลาส่องสว่างเพียง 27 วัน

"ซูเปอร์โนวานี้อาจมีกลไกการระเบิดที่แตกต่างไปจากซูเปอร์โนวาอื่นโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ความแตกต่างเล็กน้อย" อเล็กซ์ ฟิลิเพนโก จากยูซีเบิร์กเลย์กล่าว "ซูเปอร์โนวานี้ไม่ใช่ซูเปอร์โนวาชนิด 1 เอ ซึ่งเป็นการระเบิดของดาวแคระขาว และไม่ใช่ซูเปอร์โนวาแกนยุบ ซึ่งเกิดจากแกนเหล็กของดาวฤกษ์ยุบแล้วระเบิดออกด้วยคลื่นกระแทก"

การระเบิดอาจเกิดขึ้นในระบบดาวแคระขาวคู่ เมื่อฮีเลียมจากดาวแคระขาวดวงหนึ่งไหลถ่ายเทไปสู่ดาวแคระขาวอีกดวงหนึ่ง ทำให้เกิดการระเบิดขนาดย่อมที่สว่างไม่มากนักและส่องสว่างเป็นเวลาไม่นาน

ความพิเศษของซูเปอร์โนวาชนิดนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังการระเบิดผ่านพ้นไปแล้วดาวแคระขาวทั้งคู่ยังคงอยู่ ซึ่งต่างจากซูเปอร์โนวาชนิด 1 เอ ที่ดาวแคระขาวจะหายไป

ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่นักดาราศาสตร์ได้เคยสร้างแบบจำลองการระเบิดแบบนี้มาแล้วในปี 2550 โดยนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่นำโดย ลารส์ บิลสเตน จากสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีแคฟลีในยูซีซานตาบาร์บารา

ฟิลิเพนสโกอธิบายว่า การระเบิดแบบนี้คล้ายคลึงกับทั้งซูเปอร์โนวาและโนวา แต่การระเบิดมีความรุนแรงกว่าโนวาทั่วไปถึงราว 1,000 เท่า จึงถือว่าใกล้เคียงซูเปอร์โนวามากกว่า

"ชั้นฮีเลียมที่หนาและหนักของดาวแคระขาวทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่รุนแรงกว่าที่เกิดในโนวาทั่วไป จึงต้องจัดว่าเป็นซูเปอร์โนวากำลังต่ำ" ฟิลิเพนโก อธิบายเพิ่มเติม

อีกสิ่งหนึ่งที่ซูเปอร์โนวานี้พิเศษไม่เหมือนซูเปอร์โนวาอื่นนั่นคือ สเปกตรัมอาจแสดงว่ามีวานาเดียมอยู่ด้วย วานาเดียมเป็นธาตุที่พบในอุกกาบาตไม่กี่ดวงแต่ไม่เคยพบในซูเปอร์โนวาที่ไหนมาก่อน

การทำความเข้าใจสมบัติด้านอื่นของซูเปอร์โนวาชนิดพิเศษนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จำเป็นต้องศึกษาตัวอย่างเพิ่มเติม แต่ปัญหาก็คือ มันเป็นซูเปอร์โนวาประเภทที่เกิดขึ้นยากมากนั่นเอง

ที่มา:

http://thaiastro.nectec.or.th/news/2009/news20091203.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น