แอลครอสพบน้ำบนดวงจันทร์
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นาซาได้เผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นจากยานแอลครอส (LCROSS--Lunar Crater Observation and Sensing Satellite) และยืนยันว่า บนดวงจันทร์มีน้ำจริง
ดาวเทียมแอลครอสเป็นยานสำรวจดวงจันทร์ของนาซา มีเป้าหมายสำคัญคือการค้นหาน้ำบนดวงจันทร์ ภารกิจนี้มีวิธีการที่ดุดันแหวกแนว นั่นคือการยิงจรวดลูกเข้าไปชนดวงจันทร์ในบริเวณก้นหลุมอุกกาบาตที่มืดมิดไม่เคยสัมผัสถูกแสงแดด ซึ่งเป็นบริเวณที่คาดว่าน่าจะมีน้ำอยู่มากที่สุด แรงปะทะจะทำให้ฝุ่นทรายกระเด็นขึ้นมารับแสงแดด และยานส่วนแม่ที่อยู่ในวงโคจรก็จะสำรวจสเปกตรัมของฝุ่นเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ได้
แอลครอสได้พุ่งชนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่หลุมคาบีอัส ซึ่งอยู่ใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์
ข้อมูลที่คณะนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือข้อมูลจากสเปกโทรมิเตอร์ของดาวเทียม ซึ่งจะให้เบาะแสสำคัญที่จะชี้ชัดว่ามีน้ำอยู่จริงหรือไม่ สเปกโทรมิเตอร์แยกแยะองค์ประกอบของวัสดุได้โดยการวิเคราะห์แสงที่วัสดุนั้นแผ่ออกมาและดูดกลืนไป
จากการเปรียบเทียบสเปกตรัมของน้ำในย่านอินฟราเรดใกล้กับสเปกตรัมของวัสดุบนดวงจันทร์ที่สเปกโทรมิเตอร์บนแอลครอสวัดได้ พบว่าเข้ากันได้ดีที่สุด นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากสเปกตรัมในย่านอัลตราไวโอเลตก็ยังยืนยันว่ามีไฮดร็อกซีลอยู่ด้วย ไฮดร็อกซีลเป็นสิ่งที่เกิดจากการแตกตัวของน้ำโดยแสงแดด
การกระจายหรือการกระจุกตัวของน้ำในวัสดุเนื้อดวงจันทร์จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องวิเคราะห์กันต่อไป แต่อย่างน้อยตอนนี้ก็ยืนยันได้แน่นอนว่ามีน้ำอยู่ในคาบีอัสอย่างแน่นอน
"การทำความเข้าใจข้อมูลจากแอลครอสทั้งหมดคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เพราะมีข้อมูลดิบอยู่มากมายมหาศาล" แอนโทนี คอลาพรีต นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการแอลครอสและหัวหน้าผู้สอบสวนของศูนย์วิจัยเอมส์ของนาซากล่าว "นอกจากน้ำที่พบในคาบีอัสแล้ว ยังมีหลักฐานว่าพบสสารที่น่าสนใจชนิดอื่นอีกด้วย บริเวณที่อยู่ในเงามืดตลอดกาลบนดวงจันทร์เป็นที่เย็นยะเยือกอย่างแท้จริง เป็นแหล่งเก็บรักษาสสารที่มีอายุนับพันล้านปีได้เป็นอย่างดี"
ที่มา:
--
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น