วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

เคาท์ดาวน์หอนาฬิกากับเซอร์ไอแซค นิวตัน

คอลัมน์ สับปะรดกวน โดย เล็กหมีพูห์

สวัสดีปีใหม่ครับ แฟน ๆ จุลสารแสงเล็กทุกท่าน

ปีใหม่ได้ไปเคาท์ดาวน์ที่ไหนกันมาบ้าง สำหรับผมเอง ได้ไปเคาท์ดาวน์ที่หอนาฬิกาเชียงราย สถานที่เคาท์ดาวน์ฮอตฮิตปีนี้ของจังหวัดเชียงรายครับ


พลุแตกตัวอย่างสวยงาม ในคืนส่งท้ายปี ที่เชียงราย


ช่วงเวลาก่อนการจุดพลุและไฟราว

ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนานเบิกบานใจ และหอนาฬิกาสลับสี ที่มีพลุระเบิดบนฟ้าถี่ยิบ ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่ใช่เล่น

นับเป็นความฉลาดของคนคิด ที่เลือกเอาสถานที่ตรงหอนาฬิกา เป็นสถานที่เคาท์ดาวน์ เพราะถึงตรงนี้ไม่ใช่ศูนย์กลางของเมือง

แต่ก็เหมือนจะใช่เข้าไปทุกทีแหละ ในเมื่อคนในจังหวัดและนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดมักจะแวะมายังสถานที่แห่งนี้ เพื่อดูหอนาฬิกาเปลี่ยนสี และฟังเพลงเชียงรายรำลึกในเวลาสองหรือสามทุ่ม



หอนาฬิกาเปลี่ยนสี จุดดึงดูดนักท่องเที่ยว


ผมเองค่อนข้างจะสวนกระแสความชอบของคนเชียงรายอยู่จำนวนไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากจะไม่ชอบหอนาฬิกาแห่งนี้แล้ว ยังออกจะรังเกียจด้วยซ้ำไปครับ ที่รังเกียจ เพราะหลาย ๆ เหตุผลด้วยกัน

เหตุผลแรกสุดเลย ผมคิดว่าหอนาฬิกาเดิมนั้น เป็นมรดกตกทอดที่ควรได้รับความเคารพ เพราะสร้างมาโดยคนรุ่นก่อน

แต่แล้ววันดีคืนดี ผู้มีอำนาจก็มีความเห็นว่ามันไม่ยิ่งใหญ่พอ เลยทุบทำลายไม่เหลือซาก แล้วสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ขึ้นมา ที่ไม่มีรากฐานจากของเดิมเลย

ผมคิดว่ามีคนจำนวนไม่ใช่น้อย ที่รู้สึกเสียดายของเก่า เหมือนผม

...

บางที เราไม่ได้ต้องการได้อะไรที่ยิ่งใหญ่อยู่ตลอดเวลาหรอกครับ

เหตุผลที่สอง ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สีทองแสบสัน และลายกนกคมกริบ ชดช้อยไปมา ยืนเด่นท่ามกลางตึกแถวเป็นแท่งทื่อ ๆ อยู่รายรอบ

มันค่อนข้างอยู่ผิดที่ผิดทางอยู่สักหน่อย วัตถุชิ้นนี้ควรจะอยู่ในวัด ในเขตขันธสีมา หรือในสภาพแวดล้อมที่มีสไตล์ใกล้เคียงกัน จะดีที่สุด

ถ้าหากยังนึกไม่ออก ว่าสถาปัตยกรรมแห่งความกลมกลืนเป็นยังไง

ก็ลองนึกถึง อาคารบ้านเรือนและสถาปัตยกรรมศิลปลายไทยประยุกต์ บนถนนราชดำเนิน ที่กรุงเทพฯ เป็นตัวอย่าง


ถนนราชดำเนินกลางในยามค่ำ ความสมมาตรที่ลงตัว

ทั้งหมดสอคคล้องต้องกัน และก่อเกิดเป็นความงาม

มิพักต้องพูดถึงความปลอดภัยของการสัญจรบนท้องถนน เห็นวัตถุแหลม ๆ รอบตัวของมันแล้ว หวาดเสียวแทนนักซิ่งและเด็กซน ๆ

เหตุผลที่สาม ซึ่งผมขอคิดให้ลึกสักนิด ก็คือ

ผมคิดว่าแนวคิดของศิลปินผู้สร้างสรรค์ ที่ต้องการสื่อปรัชญาของพุทธศาสนา จากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและชิ้นส่วนกลไกต่าง ๆ

เช่น ดอกบัว ที่แทนการหลุดพ้นก็ดี การตื่นและเบิกบานก็ดี

กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปรัชญาเสียเปล่า ๆ

อย่าลืมนะครับ ว่าพุทธศาสนาเป็นธรรมะที่ไม่ขึ้นกับเวลา ที่ภาษาบาลีใช้ว่า "อกาลิโก"

ไม่ใช่ยุคสมัยใด เวลาผ่านไปนานเท่าใด ธรรมะก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่มีเปลี่ยนแปลง

การเอาเรือนนาฬิกามาผนวกกับศิลปะ ที่ผู้สร้างแสดงเจตจำนงค์ถึงความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนานั้น เหมือนลดราคาพุทธศาสนาลงมา เท่าสินค้าแบกะดิน

หลายท่านคงขำก๊าก ว่าเล็กหมีพูห์คิดมากไปป่าว จะเอาอะไรกับหอนาฬิกาอันเดียว

ไม่เป็นไรครับ อย่างที่บอกว่า ขอคิดมากสักนิด แต่เหตุผลจะชี้แจงในบรรทัดถัดไป

"เวลา" เป็นสิ่งที่คนเราสมัยนี้คุ้นเคยครับ

แต่ในวิถีดำรงชีวิตของคนยุคก่อน เรื่องเวลาไม่ใช่เรื่องใหญ่

และไม่ได้เข้ามาเร่งรัดคน เหมือนเดี๋ยวนี้

กลไกในหอนาฬิกา

เวลา ที่เป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติถูกเซอร์ไอแซคนิวตัน แยกออกเป็นส่วน ๆ

แบ่งซอยเป็นเวลา ชั่วโมง นาที วินาที

นิวตันมองโลกและจักรวาลเป็นกลไก ขับเคลื่อนเหมือนฟันเฟืองมหึมา ทุกอย่างจึงไม่เกินวิสัยในการคาดคำนวณ

การค้นพบของนิวตัน สร้างคุณูปการณ์ต่อโลกมากมาย แต่ก็สร้างภัยมหันต์ต่อโลกเช่นกัน

เพราะเกิดเป็นความเชื่อผิดๆ ว่า โลกนี้ ทุกอย่างแยกส่วน ไม่เกี่ยวข้องกัน

การคิดแบบแยกส่วน กำลังทำลายโลกที่เราอาศัย

แต่ที่จริงแล้ว โลกและจักรวาล รวมทั้งสรรพสิ่งแยกจากกันไม่ได้ เพราะขัดแย้งกับธรรมชาติที่แท้

สรุปฟันธงก็คือว่า ทัศนะแบบนิวตัน ทำให้โลกนี้เดินหน้าไปสู่มิจฉาทิฎฐิ หรือความเห็นที่ไม่ถูกต้อง

ทำให้คนทุกข์มากขึ้น หาความสุขยากขึ้น ทั้งที่เทคโนโลยีมากมาย

และทำให้เรามีเพื่อนน้อยลง วางใจคนน้อยลงเรื่อย ๆ

การค้นพบแรงโน้มถ่วง เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนิวตัน

การคิดแยกส่วน เป็นผลงานชิ้นโบว์ดำของนิวตัน

จึงกล่าวได้ว่า การเริ่มต้นคิดแยกส่วน คือหลักไมล์แรกของการเดินทางสู่ยุคสมัยอันเร่าร้อน

โดยที่การคิดแยกส่วน มี เรือนนาฬิกา เป็นสัญญะของยุคสมัยนั่นเอง

แปลกหรือไม่ ที่เราเอาสัญลักษณ์ของมิจฉาทิฎฐิ (เรือนนาฬิกา) มาเชิดชูรวมกับธรรมะที่แท้ของพระพุทธเจ้า (งานพุทธศิลป์ของหอนาฬิกา)

ช่วยไม่ได้ที่ผู้รังสรรค์อ้างเอาพุทธปรัชญามาอธิบายตัวหอนาฬิกา ผมจึงอดที่จะเอาที่มาของนาฬิกามาอธิบายปรัชญาอีกด้านหนึ่งของมันบ้าง

ถึงที่สุดแล้ว งานสะท้อนปรัชญาชิ้นนี้ แสดงปรัชญาที่ขัดแย้งในตัวมันเอง (เอ..หรือผู้สร้างตั้งใจ)

เหตุผลข้อสุดท้าย ที่ผมไม่ชอบหอนาฬิกาเชียงราย คือ...

...ดูเวลายากชิบเป๋งเลย

หอนาฬิกาที่ดี มีไว้ดูนาฬิกา

....

แต่ตอนนี้ ผมก็กำลังยืนตะลึงกับแสงสี พลุไฟ ที่หอนาฬิกาหน้าตาพิลึก

แถมยังกดชัตเตอร์แบบรัวไม่ยั้ง เป็นเพราะชื่นชมแล้วหรืออย่างไร

เปล่าเลย...ผมยังรังเกียจมันเหมือนเดิมแหละครับ

เพียงแต่ผมออกจะหลงแสงสีและบรรยากาศของผู้คนไม่ใช่น้อย


เสียงนักการเมืองท้องถิ่นผลัดกันขึ้นมาหาเสียงบนเวทีดนตรีของวงไททาเนียม ลอยเข้าหูมาแต่ไกล

ถึงจะเข้าสู่ปีใหม่ พวกเขาก็ไม่เหน็ดเหนื่อย ที่จะหาเสียงกันข้ามปี


ส่วนประชาชนอย่างเรา ๆ สิ่งเดียวที่เราจดจ่อ

คือเวลาจะข้ามปีอีกแล้ว (หลงสมมุติ)และเราก็มีความสุขกับปีใหม่ที่จะมาถึง


ไม่มีประชาชนคนไหน หันไปฟังนักการเมืองท้องถิ่นทวงบุญคุณที่จัดงานนี้ให้เรา

แต่ทุกคนดูนาฬิกาบนมือถือ ว่าจะศูนย์ศูนย์จุดศูนย์ศูนย์หรือยัง

ระหว่างรอ เพื่อนคุยกัน แฟนคุยกัน คนในครอบครัวคุยกัน ทุกคนคุยกัน


คนรู้จักกัน ยิ้มให้กัน และช่วงเวลาอย่างนี้ คนไม่รู้จักกันก็ยังยิ้มให้กันเลย

แว่บหนึ่ง พวกเราหันไปยิ้มขอบคุณนักการเมืองท้องถิ่นที่จัดงานแบบนี้ขึ้นมา ถึงเราจะรู้เท่าทันว่าเป็นเงินภาษีของเราเองก็เถอะ


แต่เราก็ขอบคุณนะ :)

ขอขอบคุณที่มาของภาพประกอบในบทความ


ภาพหอนาฬิกาเชียงราย เปรียบเทียบเก่าใหม่

www.oknation.net/blog/lungping/2008/05/27/entry-1

ภาพถนนราชดำเนินยามค่ำคืน

http://www.vcharkarn.com/vcafe/53269/11

ภาพกลไกหอนาฬิกา

http://goodmorninggloucester.wordpress.com/2009/09/02/city-hall-tower-clock-mechanism/

ภาพหอนาฬิกาบิ๊กเบน ที่ลอนดอน อันลือลั่น

http://picasaweb.google.com/pratikjadav/NamasteLondon


5 ความคิดเห็น:

  1. อ่านจบแย้วค่า ชอบนะคร้า

    ตอบลบ
  2. ชอบด้วยครับ ขอเปลี่ยนตึกแถวรอบๆให้เป็นสีทองๆแหลมๆให้หมดเลยได้ไหมครับ? เอาทั้งถนนเลย

    ตอบลบ
  3. ชอบด้วยคะ...อกาลิ..เอหิปสิโต..โอปนยิโก..ปัจจัตตังเวธิตัพโพ.วิณญูหิติ

    ตอบลบ
  4. เห็นด้วยกะเรื่องหอนาฬิกา... ดูจากภาพแล้ว โดด ๆ ยังไงไม่รู้

    ตอบลบ
  5. หลังจากที่ได้ไปเห็นด้วยตาจริง ๆ แล้ว เห็นด้วยอย่างมาก....ก็คือว่า.."ดูเวลาได้ยากจริง ๆ " ^^

    ตอบลบ