วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

มิตรภาพข้ามรั้วไผ่ ที่เปียงฟ้า

มิตรภาพข้ามรั้วไผ่ ที่เปียงฟ้า

โดย เล็ก หมีพูห์

คอลัมน์ สัปปะรดกวน

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทางข้ามพรมแดนไทยพม่า ด้านหมู่บ้านพญาไพร ดอยแม่สะลอง เข้าสู่หมู่บ้านเปียงฟ้า ที่อยู่ในเขตปกครองอิสระ รัฐฉาน ในประเทศพม่า โดยการเดินทางไปครั้งนี้ เป็นการติดสอยห้อยตาม คุณหมออุกฤษฏ์ มิลินทางกูร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเยี่ยมเยียน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ของเพื่อนพี่น้องชาวไทยใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม

หมู่บ้านเปียงฟ้า เป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลไทยใหญ่ ขนาดเล็ก 20-30 เตียง ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน จาก เจ้ายอดศึก ผู้นำสูงสุด กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ที่สู้รบกับองกำลังพม่า มาอย่างยืดเยื้อยาวนาน หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านในแนวกันชน ระหว่างไทยกับพม่า ทำให้ได้รับผลกกระทบจากสงครามโดยตรง หากสถานการณ์ครุกรุ่น และเกิดการปะทะ ระหว่างกองกำลังไทยใหญ่และกองกำลังพม่า ชาวบ้านที่อาศัยอย่ ณ ที่นี้ ก็ต้องเดือดร้อน ลี้ภัยเข้ามายังฝั่งไทย ซึ่งทางฝ่ายไทยก็จะให้การช่วยเหลือ ตามหลักมนุษยธรรมเสมอมา เดชะบุญ เท่าที่ผมถามชาวบ้าน และคณะแพทย์ที่โรงพยาบาล เขาบอกว่าเสียงปืนตามแนวรบด้านนี้ สงบมาได้หกปีแล้ว

ที่จริงการเดินทางเข้าหมู่บ้านเปียงฟ้า ตามแผนเดิมจะเดินทางเข้ามาเป็นหมู่คณะ เพราะเป็นกำหนดการที่วางไว้ล่วงหน้า ของกิจกรรมการเสวนาแลกเปลี่ยน บูรณาการประวัติศาสตร์เชียงราย ที่เครือข่ายบูรณาการประวัติศาสตร์เชียงราย เป็นผู้จัดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากโรงพยาบาลแม่สะลองใน และ อบต. แม่สะลองใน

แต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่สู้ดี ทางพม่ามีการเคลื่อนไหวกองกำลังผิดปกติ คาดว่าเตรียมการเข้าปะทะกับกองกำลังไทยใหญ่อีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ คุณหมอเชอร์รี่ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สะลองใน ท่านจึงมีความเห็นว่า น่าจะยกเลิกการเข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลเปียงฟ้าเป็นหมู่คณะใหญ่ เพราะอาจทำให้กองกำลังทหารพม่าตระหนกในสถานการณ์ และเคลื่อนไหวในทางหนึ่งทางใด

แต่เป็นโชคดีของผมน่ะครับ ที่ผมสะพายกล้องไว้ข้างตัว และยืนอยู่ข้างหมออุกฤษฏ์ มานานสองนานแล้ว หลังจากน้องทหารไทยใหญ่ ช่วยหารถมอเตอร์ไซค์มาได้สามคัน ก็เลือกตัวแทนคนไทยเข้าไป ผมถูกดันหลังให้เข้าไปด้วยคนนึง เข้าใจว่ามีกล้อง เลยเหมือนสื่อมวลชนมากหน่อย

ถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อ หลายช่วงเป็นทางชัน ด้านข้างเป็นหุบเหว เครื่องรถต้องแรง และคนขับต้องชัวร์ ผมโชคดี ที่น้องทหารในรูป เป็นคนขี่ เลยโล่งอกมากกว่าคนอื่น ถึงอย่างไร บางช่วง หัวใจร่วงไปตาตุ่ม

ราว 10 นาที เราก็ถึงโรงพยาบาล ผู้อำนวยการคนไทยใหญ่ ออกมารับด้วยตนเอง ผมอดชื่นชมคุณหมออุกฤษฏ์ ไม่ได้ โดยบุคลิกภาพท่านอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง และเอาใจใส่เรื่องสาธารณสุขของเพื่อนบ้าน ต่างชาติ อย่างกับว่าเป็นพี่น้องคนไทยด้วยกันเอง คำแนะนำของคุณหมอ ด้านการรักษาพยาบาล เช่น ในรายที่โดนระเบิด จนตาบอด ข้อมืดขาด ไฟลวกตามตัว เป็นความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับเพื่อนบ้านของเราที่ขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง

พวกเราคนไทย ทั้งหกคน ใช้เวลาอยู่โรงพยาบาล ราวค่อนชั่วโมง พระอาทิตย์ก็คล้อยต่ำเรี่ยเขา ถึงเวลาต้องกลับ เรารวบรวมเงินกันได้ก้อนเล็ก ๆ ก็บริจาคให้โรงพยาบาล เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำได้ ในขณะนั้น เป็นความประทับใจมาก ๆ ในทริปนี้ ที่ไม่มีวันลืมเลยครับ

ผู้ที่สนใจอยากเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว คงต้องตามเข้าไปดูวิดีโอที่ผมถ่ายไว้ ในเฟซบุ๊ค ที่ lek_meepooh@hotmail.com

2 ความคิดเห็น:

  1. ชื่นชมคุณหมออุกฤษณ์มากๆ ค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ12 มีนาคม 2553 เวลา 09:20

    ยังคงประทับใจไม่เสื่อมคลาย
    อีกทั้งทำให้ผมต้องเร่งกลับบ้านเชียงรายเพื่อทบทวนตนเอง
    "ว่ามาทำอะไรที่กทม.ที่ผมอะไรไม่ได้เลย"
    อยู่ขอบประเทศที่มิตรภาพไร้พรมแดนดีกว่า
    รอผมด้วยนะ ผมจะรีบกลับไป
    เบิ้มละเมอ ฒ

    ตอบลบ