เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หนังหลายๆ เรื่อง มักจะไม่ค่อยให้ความใส่ใจกับผลงานของศิลปินหรือจิตรกรที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาในหนังเหล่านั้น โดยมากมักจะจ้างช่างฝีมือทำขึ้นมา หรือบ้างก็ไปหยิบยืมผลงานจากนักศึกษาศิลปะตามสถาบันต่างๆ ผลงานที่เราได้เห็นในหนังก็เลยมักจะขาดๆ เกินๆ ไม่มีเอกภาพ และไม่อาจแสดงออกถึงตัวตนหรือบุคลิกภาพที่แท้จริงของตัวละครในเรื่องได้
แต่โชคดีที่ยังมีหนังบางเรื่องที่ไม่ละเลยองค์ประกอบเล็กๆ เหล่านี้ จนทำให้มันมีความโดดเด่นจนเป็นที่กล่าวขานไม่แพ้ตัวหนังเลยทีเดียวถ้าเราไม่นับเอาหนังชีวประวัติของศิลปิน ซึ่งโดยส่วนมากจะหยิบยืมผลงานจริงของศิลปินอาชีพตัวจริง หรือจ้างศิลปินให้สร้างผลงานเลียนแบบขึ้นมาใหม่เพื่อถ่ายทำ หนังที่ดำเนินเรื่องราวด้วยตัวเอกที่ประกอบอาชีพเป็นศิลปิน หรือจิตรกรบางเรื่อง อาจจะว่าจ้างศิลปินหรือจิตรกรตัวจริงมาเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานเบื้องหลังตัวละครเหล่านั้น โดยตำแหน่งหน้าที่นี้จะถูกเรียกขานอย่างไม่เป็นทางการว่า“ศิลปินหลังฉาก” หรือ “Prop Artist” นั่นเอง
ในบรรดา Prop Artist เหล่านี้ บางคนก็เป็นศิลปินที่โด่งดังและมีชื่อเสียงระดับโลกเลยทีเดียว เรามาทำความรู้จักกับ Prop Artist เหล่านั้นกันเถอะ
Prop Artist หนังเทศ
หลายคนคงเคยผ่านตา และอาจถึงขั้นหลงรักหนังโรแมนติกดราม่าในปี 1998 ซึ่งเป็นผลงานเบิกทางชิ้นที่สองในฮอลลีวูด ของผู้กำกับชาวเม็กซิกัน อัลฟองโซ กัวรอน อย่าง Great Expectations ที่ดัดแปลงจากนวนิยายคลาสสิกชื่อเดียวกันของ ชาร์ลส ดิกเกนส์ ด้วยความสวยงามของการกำกับ ภาพ แสง สี และดนตรีประกอบอันไพเราะ บวกกับการแสดงอันสง่างามของเหล่าดารานำ ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังในดวงใจของใครหลายๆ คน
แต่องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่ไม่อาจละเลยและหลงลืมได้ก็คือ เหล่าบรรดาภาพเขียนอันสวยงาม สื่อความหมาย และต้องตรงกับบุคลิกของตัวละคร ราวกับจะเป็นตัวสื่อถึงความในใจและแรงปรารถนาของหนุ่มลูกน้ำเค็มในเรื่องอย่าง ฟิน ที่รับบทโดย อีธาน ฮอว์กได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลงานดังกล่าว เป็นผลงานที่ถูกทำขึ้นมาใหม่สำหรับหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ มันจึงดูเป็นเอกภาพและสอดรับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเนื้อหาอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาภาพเหมือนของเหล่าดารานำในเรื่อง (โดยเฉพาะนางเอก) ที่สวยจับใจจริงๆ โดยผลงานศิลปะทั้งหมดในหนัง เป็นฝีมือของจิตรกรชื่อก้องชาวอิตาเลียน ฟรานเซสโก คเลเมนเต้ นั่นเอง
ฟรานเซสโก คเลเมนเต้ เกิดในปี 1952 ที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี แรกเริ่มเดิมทีเขาศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม ก่อนที่จะผันแปรมาเป็นจิตรกรจากการฝึกฝนด้วยตัวเอง เขาเข้าร่วมกับกลุ่มศิลปินแนว Transavanguardia ของอิตาลี ซึ่งเน้นการถ่ายทอดความฝันและจินตนาการออกมาในรูปแบบของงานศิลปะที่มีลักษณะคล้ายภาพหลอน ใช้สีสันที่หม่นมัวและฟุ้งฝัน และการถ่ายทอดผลงานที่ไม่กแสดงถึงออกความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด หากแต่มุ่งเน้นการแสดงออกอย่างฉับพลันจากหัวใจ จิตใต้สำนึก และสัญชาติญาณอย่างฉับพลันและใสซื่อบริสุทธิ์
เขาเดินทาง อาศัย และทำงานอยู่ในหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันเขาพำนักและทำงานกับภรรยาและลูกๆ อยู่ในนิวยอร์กและอินเดีย
*คเลเมนเต้รักหนัง และเข้าไปมีส่วนร่วมในหนังหลายเรื่อง เขาเคยเล่นหนังสารคดีอัตชีวประวัติที่กำกับโดยลูกสาวของเขาเอง เคยรับบทนำในหนังอิตาลี และเป็นดารารับเชิญ (แบบฮาๆ) ในหนังฮอลลีวูดอย่าง Good Will Hunting อีกด้วย (มีฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Great Expectations พระเอกก็เอ่ยถึงชื่อ คเลเมนเต้ ขึ้นมาด้วย)
Prop Artist หนังไทย
นอกจากหนังฝรั่งต่างชาติอย่าง Great Expectations ที่ผูกเรื่องให้ตัวเอกเป็นศิลปิน ใช้งานศิลปะเป็นตัวร้อยเรียงดำเนินเรื่องราว และใช้ศิลปินตัวจริงเสียงจริงมาทำงานเบื้องหลังแล้ว ประเทศไทยเราก็ มีหนังทำนองเดียวกันนี้ออกมาหลายเรื่องเหมือนกัน แต่เรื่องที่ดูเข้าท่าและน่าจะลงตัวที่สุด ดูจะเป็นหนังรัก โรแมนติกเรื่องที่สองของผู้กำกับฝีปากกล้า ยุทธเลิศ สิปปภาค อย่าง กุมภาพันธ์ ที่เล่าเรื่องราวความรักระหว่างศิลปินสาวความจำเสื่อมกับหนุ่มโรบินฮู๊ดในมหานครนิวยอร์ก ที่ใช้ประโยชน์จากงานศิลปะซึ่งเป็นทั้งตัวตน (Identity) อาชีพการงาน (Career) และสภาวะทางจิตใจ (Mentality) ของตัวละคร อีกทั้งมันยังเป็นจุดแปรผันของเรื่องราว (Turning Point) และสัญลักษณ์แฝง (Symbolic) ของหนังได้อย่างน่าสนใจ (ยุทธเลิศเป็นคนทำหนังที่ชอบใช้สัญลักษณ์แฝงในหนังของเขามาก ถ้าดูดีๆ สัญลักษณ์หนึ่งที่ถูกสื่อออกค่อนข้างชัดเจนและบ่อยครั้งในหนัง กุมภาพันธ์ ก็คือ ‘ปีก’)
ศิลปินผู้ทำงานเบื้องหลังที่ยุทธเลิศเลือกมา ก็เป็นศิลปินที่มีผลงานศิลปะที่มีบุคลิกต้องตรงกับตัวละครและเรื่องราวเป็นอย่างดี ซึ่งผลงานทั้งหมดที่ปรากฏในหนังก็ล้วนแต่ทำขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดรับกับเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ภาพรวมของงานศิลปะในเรื่องจึงดูเป็นเอกภาพ และสอดรับกับเนื้อหาเป็นอย่างดี (ยกเว้นในตอนต้น ก่อนที่นางเอกจะความจำเสื่อม ที่ทำผลงานออกมาคนละเรื่องกับตอนความจำเสื่อมแบบหลังเท้าเป็นหน้ามือไปได้ยังไงไม่รู้) โดยผู้สร้างสรรค์งานเหล่านี้ขึ้นมาก็คือศิลปิน (สาว) ชาวกรุงเทพฯ จากรั้วหน้าพระลาน อย่าง นริศรา เพียรวิมังสา ที่มีผลงานแสดงทั้งเดี่ยวและกลุ่มหลายต่อหลายครั้ง และผลงานของเธอทั้งหมด (ภาพลายเส้นกว่าร้อยชิ้นและภาพเขียนอีก 14 ชิ้น) ที่ปรากฏอยู่ในหนังกุมภาพันธ์ได้ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ ‘February : The Paintings’ ที่ H Gallery กรุงเทพฯ เมื่อปี 2003 ปัจจุบันเธอทำงานเป็น กราฟิกดีไซเนอร์ และศิลปินอิสระ และเพิ่งจะเสร็จจากการแสดงผลงานเดี่ยวครั้งล่าสุดที่มีชื่อว่า Perfect Skin? ที่ H Gallery เช่นเดียวกัน
เข้าไปชมผลงานและความรู้สึกนึกคิดของเธอได้ที่
http://nariss.exteen.com/
**ฟรานเซสโก คเลเมนเต้ เป็นศิลปินโปรดในดวงใจของนริศรา
ของแถม Prop Artist หนังอินดี้
ถ้าใครเคยผ่านตาหนังอินดี้อังกฤษเก๋ๆ ปี 2006 ผลงานการกำกับของ ฌอน เอลลิส อย่าง Cashback ที่เล่าเรื่องราวของ เบ็น หนุ่มนักเรียนศิลปะชาวลอนดอน ผู้เบื่อหน่ายกับชีวิตหลังความรัก (Post Romance) จนต้องหาทางฆ่าเวลาที่ผ่านไปวันๆ ด้วยการทำงานกะดึกในซูเปอร์มาร์เก็ต และกับงานอดิเรกสุดพิสดาร (ที่เก๋โคตรๆ) พล็อตฟังดูงั้นๆ แต่ผลงานศิลปะของตัวพระเอกที่มีทั้งงานลายเส้นงามๆ ภาพนิ่งสวยๆ และภาพเขียนที่สวยระดับหยุดห้วงเวลา ที่โชว์ในนิทรรศการตอนท้ายเรื่อง ที่ส่งผลให้นางเอกหน้าตาบ้านๆ อย่าง อมิเลีย ฟ็อกซ์ สวยจนแทบละสายตาไม่ได้จริงๆ ซึ่งผลงานทั้งหมดเป็นฝีมือของ Prop Artist อย่าง สจ๊วร์ต คลาร์ก และผู้กำกับ ฌอน เอลลิส เอง
***ในแกลเลอรี่ที่ เบน พระเอกของเราถูกหลอกให้เอางานไปเสนอ มีผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงจริงๆ (อีกคน) แขวนอยู่ เธอคนนั้นชื่อ เจสสิก้า อัลบาร์น
บทความโดย คุณภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ที่มา : http://tinyurl.com/39wpkvx
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น