ในยุคที่คนทุกสี ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ตั้งแต่พ่อประจักษ์ แม่วนิดา ยันป้าทอง รู้จักคำว่าโลกร้อน จึงนับว่าเป็นเรื่องแปลกที่ทั้งรัฐและธุรกิจชั้นนำยังตัดต้นไม้ใหญ่ในเมืองกันแบบไม่คิดอะไรมาก ขนานไปกับนโยบายลมปากเพิ่มพื้นที่สีเขียวและซีเอสอาร์ปลูกต้นไม้ในชนบทเพื่อลดโลกร้อนกันหน้าตาเฉย
คุณค่าของต้นไม้เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์ต้องเข้าใจ ต้นไม้ไม่ใช่แค่วิว ไม่ใช่แค่สีเขียวสวยงาม ไม่ใช่แค่สัญญลักษณ์แสดงความ “รักษ์ธรรมชาติ” แต่ต้นไม้คือชีวิตให้อากาศหายใจ จำเป็นอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะในเมืองที่ปล่อยมลภาวะกันมากมาย
ต้นไม้ใหญ่โตเต็มที่หนึ่งต้นสามารถผลิตอ๊อกซิเจนให้มนุษย์หายใจได้ 8-10 คนต่อวัน กะคร่าวๆ ถ้ามีราว 500 ต้นจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ธรรมดาขับ 20,000 กิโลเมตร/ปีได้ และถ้าต้นไม้นั้นอยู่ในเมืองก็จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าอีกหลายเท่า แถมยังดักซับฝุ่นละอองพิษอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กเข้าไปอุดถุงลมปอดเราได้ เมื่อเปรียบเทียบถนนขนาดเดียวกัน ถนนไม่มีต้นไม้ใหญ่จะมีฝุ่นละอองมากกว่าถนนมีต้นไม้ใหญ่ถึง 5 เท่า
ร่มเงาของต้นไม้ช่วยกรองแสงแดดและรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตบนท้องถนน จึงช่วยลดการผลิตโอโซนระดับผิวดินจากไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจของเรา เป็นสาเหตุของหมอกควันเทาๆ ที่ทำลายวิสัยทัศน์ในเมือง
น่าสนใจว่า เมื่อต้นปีนี้มูลนิธิโลกสีเขียวและกลุ่มอาสาสมัครเยาวชนทำการสำรวจไลเคน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศในบริเวณสวนลุมพิณี พบว่าแม้ใจกลางสวนจะมีสภาพโอเค แต่บริเวณรอบสวนใกล้ริมถนนอากาศจะแย่และพบไลเคนน้อย ยกเว้นด้านที่ติดกับถนนวิทยุ พบไลเคนดีกว่าด้านอื่น แสดงถึงคุณภาพอากาศที่ดีกว่า ทั้งๆ ที่จำนวนรถยนต์บนถนนวิทยุก็ไม่ได้หนาแน่นน้อยไปกว่าถนนด้านอื่น แต่ถนนวิทยุโดดเด่นตรงแนวต้นก้ามปูขนาดใหญ่ทั้งริมทางและบนเกาะกลาง แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมร่มรื่นไปทั้งถนน ต้นก้ามปูเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการลดปริมาณมลภาวะที่บรรดารถยนต์กระหน่ำกันปล่อยออกมา
ถ้านึกภาพไม่ออกว่ามลภาวะที่ว่านี่มันแย่เพียงใด ก็ลองดูข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเป็นน้ำจิ้ม ประเทศเดนมาร์กเพิ่งสำรวจข้อมูลล่าสุดของเขาออกมาว่า คนตายจากการหายใจมลพิษไอเสียรถยนต์มีมากถึง 3,400 คนต่อปี มากกว่าการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 10 เท่า อันนี้เป็นสภาพของประเทศที่สร้างเมืองให้คนอยู่ การจราจรโดยรถยนต์ไม่หนาแน่นติดขัด มีคนขี่จักรยานมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แล้วอากาศในเมืองให้รถอยู่อย่างกรุงเทพฯ ของเราล่ะมันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเราขนาดไหน
และถ้าคิดว่าหนีมลพิษเข้าไปอยู่ในรถติดแอร์ได้ ก็ขอให้คิดใหม่ เพราะเครื่องกรองอากาศในรถติดแอร์ไม่สามารถกรองละอองพิษขนาดเล็กมากได้ ยังไงมันก็เข้ามาในรถและเข้าไปอุดถุงลมปอดคุณอยู่ดี
ลำพังการส่งเสริมรถปล่อยควันพิษเต็มเมืองของเราก็สะท้อนสติไม่สมประกอบของสังคมเราอยู่แล้ว แต่มาเที่ยวตัดต้นไม้ซ้ำเติมอีก มันเหมือนเจาะรูห่วงชูชีพที่โยนลงมาช่วยคนจะจมน้ำยังไงไม่ทราบ
ฉันกำลังพูดถึงฝีมือคนตัดหัวต้นไม้ริมถนนสุขุมวิทช่วงแถวๆ ซอย 45 เมื่อเดือนก่อนจนกุดเป็นตอโด่ ไม่เหลือกิ่ง ไม่เหลือก้าน ไม่มีใบ แต่หาเรื่องซื้อกอกล้วยไม้มาแปะแผลคอขาดไว้แบบขอไปที
กำลังคิดถึงชะตากรรมต้นก้ามปูใหญ่รุ่นคุณลุงในซอย 35 ที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย รอลุ้นการตัดสินใจของนักธุรกิจเครือห้างเอ็มโพเรียมและไบเทค ว่าจะตัดฟันไปสร้างห้างกันหมดทุกต้นหรือไม่
กำลังนึกถึงโครงการพัฒนาปรับปรุงตรอกซอยของ กทม.ในย่านนี้ที่ไล่ตัดต้นไม้ใหญ่ในซอย เพื่อดาดคอนกรีตตามไหล่ทาง แล้วปลูกไม้พุ่มเล็กๆ แซมแทนที่ เสียดายที่สุดคือตรอกแยกในซอย 38 เมื่อสองปีก่อนมันเคยเป็นถนนไม่กี่แห่งในละแวกนี้ที่ยังมีคูน้ำหลงเหลืออยู่ มีก้ามปูต้นใหญ่ๆ ขึ้นอยู่ตามทาง
ซอยบ้านของฉันก็เกือบโดนเหมือนกัน เราจึงบวชต้นไม้ริมทางทั้งซอย และต้องนำเรื่องไปถึงคุณอภิรักษ์ ผู้ว่า กทม.ในสมัยนั้น กว่าจะยกเลิกโครงการ “ปรับปรุง” ซอยได้
ทุกวันนี้ซอยของเราจึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนละแวกใกล้เคียง แวะเข้ามาวิ่งออกกำลัง แวะพาหมามาเดิน ซอยนี้ไม่ยาวมาก แค่ประมาณ 200 เมตรเท่านั้น แต่มีนกมาอาศัยอยู่มากกว่า 20 ชนิด รวมถึงนกหายากในกรุงอย่างนกแซวสวรรค์หางยาว นกกะรางหัวขวาน ตลอดจนนกสีสันจัดจ้านอย่างพญาไฟเล็กและขมิ้นท้ายทอยดำ
พวกมันแห่มาอยู่ในซอยนี้ เพราะกลายเป็นโอเอซิสกลางย่านสุขุมวิท ดงคอนโดและพื้นปูน
ร่มเงาต้นไม้ยังลดอุณหภูมิผิวถนน พื้นคอนกรีต และอาคารข้างเคียง ทำให้เย็นลง จึงช่วยประหยัดพลังงาน โดยไม่ต้องเสียสตังค์ค่าก่อสร้างเพิ่มฉนวนกันความร้อนบนกำแพงตึก ทั้งหมู่ไม้ช่วยซับคลื่นเสียง ลดเสียงดังในเมือง งานวิจัยหลายชิ้นก็แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่มีหน้าต่างเห็นวิวต้นไม้จะหายเร็วกว่าคนไข้ที่ไม่เห็นต้นไม้ พนักงานก็ทำงานได้ผลดีกว่าในที่ที่มีต้นไม้ และผลไม้จากต้นไม้ในเมืองยังสามารถนำมาจัดสรรเป็นธนาคารอาหารให้แก่ชาวเมืองรายได้ต่ำอีกด้วย นี่ยังไม่พูดถึงบทบาทในการปรับปรุงสภาพดิน เพิ่มสสารอินทรีย์ให้ดินซึมซับน้ำดีขึ้น ลดภาวะน้ำท่วม ฯลฯ ฯลฯ
คุณค่าของต้นไม้สาธยายได้อีกสิบหน้ากระดาษ
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ทำได้ง่ายและจำเป็นมากๆ จึงเป็นการปลูกหรือรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ริมถนนตรอกซอกซอย ยิ่งเราก่อมลภาวะกันมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องการมันมากเท่านั้น การปลูกต้นไม้ใหญ่ในกรุงควรเป็นกติกาข้อบังคับด้วยซ้ำไป ไม่ใช่เป็นกิจกรรมประดับพีอาร์
ในเมื่อ กทม.ดูจะไม่มีความรู้ความสามารถ – และที่สำคัญ ไม่มีความใส่ใจ – ที่จะดูแลแต่งกิ่งต้นไม้ให้งอกพ้นสายไฟฟ้า เติบใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นร่มเงาเย็นให้บ้านเมือง กทม.ก็สมควรพิจารณาตนเอง ก่อนประชาชนจะสิ้นความอดทน
เพราะพวกเราเบื่อจ่ายภาษีให้พวกคุณถลุงเล่นกันเต็มทีแล้ว
กรุงเทพธุรกิจ, 7 ตุลาคม 2553
(ที่มา : http://tinyurl.com/29fplpg)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น