วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พระเจ้าไม่ต้องการให้โลกมีศาสนาเดียว

ในประวัติศาสตร์สยาม มีฝรั่งที่ช่วยแต้มแต่งสีสันให้แก่ราชสำนักจนเกิดอาการ “ป่วน” แตกประเด็นถกเถียงกันไม่รู้จบอยู่สองคน คนหนึ่งคือ “แหม่มแอนนา” จอมอื้อฉาว และอีกคนก็คือพ่อกะล่อนทองยุคพระเจ้าเหา นาม “คอนสแตนติน ฟอลคอน” ดิฉันสนใจเรื่องราวของ “ฟอลคอน”มานานแล้ว พอดีได้มีโอกาสชมละครเรื่อง The Tale of Phaulkon ตอนที่ 1 ติดต่อกันถึงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2544 รอบซ้อมใหญ่หรือรอบนักวิจารณ์ ณ บ้านศิลปะ ของคุณ Manuel Lutgenhorst ผู้กำกับและผู้ผลิตละครชาวเยอรมัน ที่อำเภอหางดง เชียงใหม่ และรอบแสดงจริงในวันที่ 17 มีนาคม 2544 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอสารภาพตามตรงว่าคุณมานูเอลและคุณ Ralph Cotterill ผู้ร่วมเขียนบทละครอีกคน และยังรับบทเป็นบาทหลวงลาโนอีกด้วย สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของฟอลคอนออกมาได้อย่างแสบสันต์สมกับที่ดิฉันรอคอยมานานถึงสองปีเต็ม เป็นการเปิดปูมให้ผู้ชมได้เห็นมโนสำนึกของตัวละครสำคัญๆ ในมิติแปลกใหม่ชนิดที่ไม่เคยอ่านพบในหนังสือเล่มใด ฟอลคอนที่คนไทยทั่วไปรู้จักผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์สมัยมัธยมที่อิงพระราชพงศาวดารฉบับกรุงศรีอยุธยา มีภาพลักษณ์ค่อนข้าง น่าชื่นชมยกย่อง กล่าวคือเป็นชาวฝรั่งเชื้อสายกรีกผู้ชาญฉลาดมีไหวพริบ มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์ อุทิศตนเพื่องานในหน้าที่ ผลักดันให้สยามเจริญรุ่งเรือง จนได้รับพระราชทินนามว่าออกญาวิชาเยนทร์

ส่วนใครที่เรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาและมหาบัณฑิต ก็ย่อมสัมผัสกับเบื้องลึกเบื้องหลังของฟอลคอนในแง่ “ลบ” มากกว่า “บวก” โดยมากเป็นการตีความจากจดหมายเหตุบันทึกของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสหลายฉบับซึ่งกล่าวตรงกันว่า แท้จริงแล้วเขาเป็นคนไร้หัวนอนปลายเท้า ไร้การศึกษา ไร้มารยาท ประจบสอพลอ แถมยัง “ขายตัว” ได้เพื่อทุกสิ่งทุกอย่างเข้าข่าย “ชายสามโบสถ์” ตัวพ่อ แต่เดิมเคยนับถือนิกายออร์โธดอกซ์แบบชาวกรีกทั่วไป ต่อมามีความทะเยอทะยานต้องการทำงานกับบริษัทเดินเรือชาวอังกฤษจึงยอมเปลี่ยนศาสนามาเป็นนิกายแองคลิแกน และในที่สุดก็เข้ารีตเป็นคาทอลิกเพื่อเอาใจภรรยา “มารี กีมาร์” ท้าวทองกีบม้า – ชาวคริสตังเชื้อสายญี่ปุ่น - โปรตุเกส ซึ่งดูเหมือนว่าละครเรื่องนี้จะยึดเอกสารต่างชาติเป็นหลักเช่นกัน บุคลิกลักษณะของฟอลคอนจึงดูหลุกหลิกและกะล่อนอย่างสุดๆ

ข้างฝ่ายพระเพทราชานั้นเล่า กลับยิ่งตาลปัตรไปกันใหญ่ เท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมา ถูกประณามว่าเป็นกบฏ มีความมักใหญ่ใฝ่สูง มากเล่ห์เพทุบาย คอยจ้องจังหวะจะยึดราชบัลลังก์ลูกเดียว ส่วนเอกสารฝรั่งเศสก็มักกล่าวสบประมาทพระเพทราชาว่าเป็นคนหัวโบราณขวาจัด รังเกียจและริษยาฝรั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอลคอนคือศัตรูหมายเลขหนึ่ง แต่ละครเรื่องดังกล่าวได้พลิกบทบาทของพระเพทราชาโดยสิ้นเชิง รับบทโดยหนุ่มโบราณคดีผู้มีน้ำเสียงทรงพลัง สมปอง พรหมเปี่ยม และเขาผู้นี้ยังได้พากย์บทสุรเสียงของพระนารายณ์ซึ่งใช้หุ่นกระบอกแสดงอีกด้วย พระเพทราชาในเวอร์ชั่นใหม่กลายเป็นนักบุญผู้ทรงศีลสุขุมล้ำลึก ต้องการปกปักพระศาสนาและแผ่นดินสยาม ตระหนักถึงหายนภัยที่กำลังจะเยื้องกรายมาในไม่ช้า ตราบที่ราชอาณาจักรสยามยังตกอยู่ในอุ้งมือของ 18 มงกุฎเช่นฟอลคอน

การพลิกบทบาทของ “พระเอก” ให้เป็น “ผู้ร้าย” และ “ผู้ร้าย” ให้เป็น “พระเอก” ระหว่างฟอลคอนกับพระเพทราชา เพียงเท่านี้ก็ “ช็อค” คนดูมากพอแรงแล้ว สำหรับตัวละครสำคัญเช่น “พระนารายณ์” ผู้มีนามเหมือนพระเจ้าในศาสนาฮินดู เนื่องจากแรกคลอดมีคนเห็นว่าทรงมี 4 กร อีกทั้งวัยเด็กตอนเพลิงไหม้พระราชวังทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการใช้กรทั้ง 4 ดับไฟนั้นเล่า ต้องขอชมเชยทีมงานของคุณมานูเอลที่สามารถหาทางออกได้อย่างสวยงามด้วยการใช้หุ่นกระบอกมาแสดงแทนคนจริง น่าเสียดายที่บทบาทของพระนารายณ์ยังไม่โดดเด่นเท่าที่ควร น่าจะมีการวิเคราะห์ตีความถึงมูลเหตุแห่งการที่พระองค์ทรงชอบคบค้ากับประชาคมต่างชาติ ว่าเนื่องมาจากเหตุผลกลใดกันแน่ระหว่าง

  • การดึงเอาฝรั่งเศสมาคานอำนาจกับ “วิลันดา” จอมก้าวร้าว ซึ่งเอะอะอะไรก็คอยจ้องจะเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทยท่าเดียว ซึ่งเหตุผลนี้เคยเชื่อถือกันมาช้านาน

  • หรือเหตุผลพื้นๆ เช่น เกิดจากวิสัยทัศน์กว้างไกลของพระองค์ที่ต้องการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นศิวิไลซ์ กับหนุนเนื่องมาจาก “รสนิยมเทศ” ไม่โปรดไทยของพระองค์ ฉะนั้นแผ่นดินอยุธยาจึงเกลื่อนกล่นไปด้วยประชาคมฝรั่ง แขก จีน ญี่ปุ่น

  • หรือว่าแท้จริงแล้วเกิดจากความไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจคนไทย ด้วยเกรงว่าขุนนางบางคนอาจกลายมาเป็น “หอกข้างแคร่” เหตุเพราะพระองค์ก้าวมาสู่ราชบัลลังก์ด้วยการปราบดาภิเษกถึงสองครา ครั้งแรกร่วมมือกับเสด็จอาช่วยกันปราบดาพระเชษฐาหลังจากที่พระราชบิดาทรงสวรรคตแล้วได้มอบบัลลังก์ให้แก่พระเชษฐา แสร้งยอมจำนนให้เสด็จอาครองราชย์ได้ไม่นาน ในที่สุดก็จัดการเลื่อยขาเก้าอี้พระเจ้าอาอีกยกหนึ่ง

ประเด็นสุดท้ายนี้มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว เห็นได้จากการออกอาการ “ชนักปักหลัง” ของพระนารายณ์ตั้งแต่ช่วงครองราชย์ใหม่ๆ ยังทรงรีๆ รอๆ พอใจที่จะประทับอยู่ ณ วังจันทรเกษมอันคุ้นเคยตั้งแต่คราวเป็นอุปราช ยังไม่กล้าเข้ามาประทับในวังหลวงที่พระนครศรีอยุธยา ความไม่ไว้วางใจอยุธยายังปรากฏชัดในการที่ทรงโปรดให้สร้างราชธานีแห่งใหม่ที่ลพบุรีทันที แม้จะอ้างว่าอยุธยาน้ำท่วมบ่อยหรือต้องการมีพระราชวังประทับพักผ่อนฤดูร้อนเนื่องจากทรงโปรดการคล้องช้างก็ตาม เรื่องนี้น่าคิดยิ่งนัก …คนที่ไม่มั่นคงในชีวิตมักรู้สึกว่า “บ้านตัวเอง” ไม่อบอุ่น จึงชอบแสวงหา “บ้านหลังใหม่” อยู่เสมอ

ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นยังมีตัวละครสำคัญยิ่งอีกตัวหนึ่งที่ไม่ปรากฏในฉากละคร นั่นคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทั้งๆ ที่หัวใจของละครเรื่อง The Tale of Phaulkon ก็คือการชักเย่อกันแบบสามเส้าระหว่างพระนารายณ์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยมีฟอลคอนอยู่ตรงกลาง

  • ฝ่ายพระนารายณ์ใช้ฟอลคอนเป็น “เครื่องมือ” หรือ “สะพาน” สำหรับนำพาสยามไปรู้จักกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับฐานะของสยามให้เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีประเทศอภิมหาอำนาจที่สุดในโลกคือฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรเท่านั้น แต่อีกโสตหนึ่งลึกๆ แล้วยังมุ่งหวังที่จะประกาศศักดานุภาพกดข่มศัตรูภายในราชสำนักที่มองไม่เห็นให้ขลาดกลัวต่อบารมีของพระองค์ โดยที่ทรงแสร้งไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดของพสกนิกรสยามอันหนุนเนื่องมาจากความอำเภอใจของฟอลคอน เช่นการจับพระสึกมาเป็นกรรมกรก่อสร้าง การรีดนาทาเร้นต่างๆ ในสายตาของพระองค์ทรงมองว่า “ผู้ชายพเนจรอย่างฟอลคอน” หาได้มีพิษภัยต่อราชบัลลังก์แต่อย่างใดไม่ ทรงตรัสย้ำแก่ขุนนางให้รู้จักใช้ชายผู้นี้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังเช่นทรงรำพึงว่า “เขาเป็นคนที่คนไทยไม่ควรกลัวเลย เพราะเขาไม่มีความจงรักภักดีต่อมาตุคาม ไม่มีชาติ ไม่มีศาสนา เขามีชีวิตอยู่เพื่อตัวของเขาเอง”

  • ข้างฝ่ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้มี “ปม” ด้วยรูปร่างเตี้ยต้องคอยเดินยกไหล่เหมือนพระนารายณ์ มีความต้องการเป็นประมุขทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและศาสนจักรอย่างแรงกล้า จึงยึดกฎเหล็กสามประการในการแผ่แสนยานุภาพทั่วโลก นั่นคือ “ Une Fois Une Loi Un Roi!” ความเชื่อเดียว กฎหมายเดียว ภายใต้กษัตริย์องค์เดียว” พระองค์ไม่เพียงแต่ดูถูกคนนอกศาสนา แม้แต่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ก็ยังถูกปราบเสียราบคาบมาแล้วในฝรั่งเศส พระองค์กำลังเล็งหาประเทศใดประเทศหนึ่งในเอเชียที่สามารถบีบบังคับให้กษัตริย์นับถือคาทอลิกได้ เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่การเขมือบชาติอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง จึงมอบหมายฟอลคอน ผ่านทางราชทูตและบาทหลวงต่างๆ ให้เกลี้ยกล่อมเจ้าชีวิตแห่งสยามให้ละทิ้ง “ความเชื่ออันถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ” แล้วเข้ารีตมาเป็น “ปฐมบุตรแห่งพระศาสดา”

  • สำหรับ “ฟอลคอน” นั้น นอกจากจะเป็นชายสามโบสถ์แล้ว ยังเป็นนกสองหัว ประจบประแจงพระนารายณ์ทุกวิถีทางเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ จนกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ล่ำซำที่สุดในราชอาณาจักรสยาม เขาได้รับอภิสิทธิ์ในทุกๆ ด้านอย่างไม่มีข้อยกเว้น ฟอลคอนฉลาดพอที่จะเล่นเกมกับพระนารายณ์ โดยไม่เร่งร้อนบีบบังคับให้พระองค์เข้ารีต แต่ในอีกด้านหนึ่งฟอลคอนกลับขันอาสาพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าจะหาทางทำทุกอย่างให้พระนารายณ์เปลี่ยนใจมาเป็นคาทอลิกให้จงได้ ทั้งๆ ที่พระนารายณ์ได้ทรงประกาศ (วรรคทอง ) แก่ราชทูตและบาทหลวงชาวฝรั่งเศสไปแล้วอย่างชัดแจ้งว่า

การที่พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และศาสนานั้น นั่นย่อมแสดงว่าพระองค์ไม่ต้องการให้โลกมีเพียงศาสนาเดียว ฟอลคอนฝันไปไกลถึงขั้นที่ว่าหากสยามเพลี่ยงพล้ำตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสวันใด เขานี่แหละน่าจะเป็นบุคคลแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สรุปง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าฝ่ายพระนารายณ์หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้ชนะ ฟอลคอนก็จะคอยจ้องตะครุบอำนาจก้อนใหญ่ในฐานะ “มือขวา” จากทั้งสองฝ่ายแบบ “ลอยตัว” เหนือความผิดก่อนที่วังวนแห่งการชักเย่อจะจบเกม จู่ๆ พระเพทราชาก็เข้ามาเป็นตัวเร้าหรือเป็นผู้ตัดบ่วงบาศก์นั้นลงเสีย ทั้งพระนารายณ์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และฟอลคอน จึงต่างก็ฝันสลายลงตามๆ กัน

ละครในภาคแรกนี้จบลงตอนที่ฟอลคอนกำลังหากโลบายจัดการกับ เรือโทฟอร์แบง ผู้ซึ่งเป็น SNOB ตัวจริงเสียงจริงจากราชสำนักฝรั่งเศส และมีทีท่าว่าจะเข้ามาเป็นคนโปรดคนใหม่ของพระนารายณ์ ซึ่งหากปล่อยให้ฟอร์แบงเหิมเกริมขึ้นเรื่อยๆ พระนารายณ์ก็จะยิ่งเห็น “ภาพเปรียบ” แห่งความเป็น “ฝรั่งบ้านนอกกิ๊กก๊อก” ของฟอลคอนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นคนโปรดของพระนารายณ์คือ เฉกมะหะหมัด ( เปอร์เซียน ) ก็เคยถูกฟอลคอนเขี่ยตกกระป๋องด้วยวิธีที่ป่าเถื่อนมาแล้ว

ดิฉันรู้จักกับราล์ฟและมานูเอลมาตั้งแต่ต้นปี 2543 จำได้ว่าขณะนั้นเขาทั้งสองกำลังถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดเกี่ยวกับการตีประเด็นต่างๆ สำหรับบทละครเรื่องฟอลคอน กาลเวลาผ่านพ้นไปถึงสองปีเต็ม ถือว่านานทีเดียวสำหรับความจริงใจและความพยายามที่จะชำระประวัติศาสตร์สยามของชาวต่างชาติทั้งสองนี้ จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงละครบรอดเวย์ในนิวยอร์คมานานกว่า 30 ปี ทำให้มานูเอลมีความเป็น “มืออาชีพ” ในด้านการทำละคร เรื่องนี้เขาได้ใช้สื่อต่างๆ มาผสมผสานกันหลายแขนงนับแต่ละครเวที หุ่นกระบอกไทย หุ่นพม่า หนังตะลุง เสภา โอเปรา วงอังกะลุง ฯลฯ จัดเป็นศิลปะแนวโพสต์โมเดิร์นที่สร้างความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเองให้แก่ผู้ชมอย่างตื่นตาตื่นใจ ความยากเข็ญของผู้สร้างอยู่ที่การพยายามสื่อเนื้อหาด้วยสัญลักษณ์ที่ซับซ้อน ผู้ชมส่วนใหญ่จึงอาจไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างครบถ้วน เป็นละครที่แม้แต่ปัญญาชนยังดูยาก แต่เชื่อว่าการจัดฉาก บทพากย์ วิธีนำเสนอ ฝีมือฉกาจฉกรรจ์เฉพาะตัวของผู้แสดงทุกคน และเพลงประกอบคงมอบรสหรรษบำเทิงให้แก่ผู้เสพอย่างมหาศาล ดิฉันตั้งข้อสังเกตว่าละครเรื่องนี้มีการใช้สัญลักษณ์ที่น่าสนใจอยู่หลายตอน ขอยกตัวอย่างให้เห็นสักสามฉาก

  • สัญลักษณ์แรก คือตอนที่ราชทูตเชอวาลิเยร์ เดอโชมงต์ และคณะ ( ไม่ถอดรองเท้า ) นำพระราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายแด่สมเด็จพระนารายณ์ (ฉากนี้จำลองมาจากภาพพิมพ์ของเหตุการณ์จริงวาดโดยชาวฝรั่งเศส ) ท่านทูตผู้หยิ่งทะนง ( จากจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสหลายฉบับให้ฉายาท่านราชทูตเดอโชมงต์ผู้นี้ว่า “บุรุษผู้ทึบทึม”) จงใจแกล้งยื่นราชสาส์นแบบต่ำๆ ไม่ยอมเทินขึ้นเหนือหัว จะด้วยความไม่รู้จักธรรมเนียมไทยหรือเพื่อต้องการลบหลู่เกียรติพระนารายณ์ก็แล้วแต่ ทำให้เป็นครั้งแรกในชีวิตของกษัตริย์จำต้องโน้มตัวลงมารับราชสาส์นจากมือสามัญชน ในขณะที่ฟอลคอนนั่งหมอบคลานตัวคุดคู้ถอดรองเท้าอยู่ที่ด้านซ้ายพยายามเตือนให้เดอโชมงต์เกรงกลัวพระราชอาญา แต่ด้วยความที่พระนารายณ์ทรงมีไหวพริบ พระองค์จึงทรงไม่ถือสากับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ซ้ำยังแสร้งเอาราชสาส์นนั้นเทินขึ้นเหนือเกล้าประหนึ่งว่าให้ความเคารพแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อย่างสูงสุด

  • สัญลักษณ์ที่สอง ฉากงานเลี้ยงรื่นเริงที่ฟอลคอนจัดขึ้นต้อนรับคณะราชทูต มีการแสดงเชิดหุ่นพม่าด้วยสัตว์สามตัว ในวันซ้อมใหญ่ที่บ้านมานูเอลใช้เหยี่ยวแทนฟอลคอน ( เนื่องจากชื่อของเขาในภาษาอังกฤษหมายถึงเหยี่ยว อีกทั้งตราประทับบนหัวหนังสือราชการก็ใช้รูปเหยี่ยว) ใช้ช้างอยู่ตรงกลางแทนพระนารายณ์ กรณีช้างนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นราชาแห่งสัตว์ป่าหรือสัญลักษณ์ของสยามประเทศเท่านั้น ทว่าพระนารายณ์ยังทรงโปรดการคล้องช้างเป็นชีวิตจิตใจอีกด้วย และใช้ลิงแทนพระเพทราชา โดยผูกเรื่องให้เหยี่ยวมาล่อช้าง ช้างเดินตาม และลิงพยายามดึงช้างกลับแต่เกินแรงต้าน ในที่สุดช้างก็พ่ายแพ้แก่เหยี่ยว ผลปรากฏว่าสัญลักษณ์รูปสัตว์สามตัวนี้ยากเกินแก่การสื่อสาร ทำให้วันแสดงจริงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีมงานตัดสินใจเปลี่ยนเหยี่ยวมาเป็นหุ่นรูปผู้ชายผมทองแทน

  • สัญลักษณ์ที่สาม ตอนที่ฟอลคอนวางแผนการกับบาทหลวงตาชาร์ ถึงหนทางที่จะบีบบังคับให้พระนารายณ์เข้ารีต ฟอลคอนนั่งอยู่บนเก้าอี้ด้วยท่าทางยะโสพลางอุ้มหุ่นกระบอกรูปพระนารายณ์ไว้บนตักเหมือนอุ้มตุ๊กตาหรือเด็กทารกที่อยู่ในกำมือ

The Tale of Phaulkon ตอนที่สอง จะออกมาหน้าตาอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่อยากฝากให้คุณราล์ฟและมานูเอลช่วยนำไปครุ่นคิดต่อ ก็คือเรื่องชาติตระกูลของฟอลคอน แต่เดิมเราเคยทราบกันดีว่าเขาเกิดที่เมืองเซฟาโลเนียในตระกูลยากจนทำให้ต้องมาเผชิญโชคเป็นกะลาสีเรือตั้งแต่ยังเด็กกับบริษัทกำปะนีของชาวอังกฤษ ในขณะที่หลักฐานใหม่ได้มีการค้นพบทายาทของฟอลคอนในสายตระกูล “เชอรากีส์” คำว่า Gerakis ภาษากรีกแปลว่าเหยี่ยวตรงกับคำว่า Falcon ในภาษาอังกฤษ ) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ณ เมืองมาร์เซยย์ใกล้ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในฝรั่งเศส ได้ยืนยันว่าบรรพบุรุษของเขาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 มาจากตระกูลขุนนางแห่งเมืองเซฟาโลเนียในกรีซ ก่อนที่จะไปเป็นขุนนางในราชอาณาจักรสยาม ต่อมาลูกหลานของฟอลคอนได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ฝรั่งเศส ในช่วงที่สยามกีดกันชาวต่างชาติตอนปลายสมัยอยุธยา ทายาทผู้นั้นมีภาพถ่ายซากโบสถ์ St. Thedodore อันเป็นโบสถ์ประจำตระกูล พร้อมด้วยภาพวาดลายเส้นต้นฉบับตอนที่สมเด็จพระนารายณ์และฟอลคอนต้อนรับราชทูตเดอโชมงต์ที่พระราชวังในกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม คศ .1685 เป็นหลักฐานยืนยันอีกด้วย หรือว่าบางทีคำโอ่ของฟอลคอนที่ดูคล้ายว่าต้องการยกฐานะตัวเองให้ดูดีขึ้นตอนแนะนำตัวต่อพระพักตร์สมเด็จพระนารายณ์ว่าต้นตระกูลของเขาเป็น “ Prince of Venice นั้นไม่ใช่เรื่องโจ๊กซะแล้ว และคงสนุกไม่น้อยหากจะมีการแทรกบทให้ “ศรีปราชญ์” มาเขียนกวีตอบโต้กับ “ฟอลคอน” บ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องตรวจสอบระยะเวลาให้ดีว่าตอนที่ฟอลคอนเข้ามาในราชสำนักสยามนั้น ศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปที่นครศรีธรรมราชแล้วหรือยัง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจินตนาการให้ฟอลคอนพบกับศรีปราชญ์ตอนที่ฟอลคอนมาแพแตกที่นครศรีธรรมราชก็ยังไหว

นานเพียงใดแล้วเล่าที่ความสับสนทางประวัติศาสตร์ไม่เคยได้รับการชำระสะสางอย่างจริงจัง หรือว่าประวัติศาสตร์มีไว้สำหรับ “รื้อ” แล้ว “สร้างใหม่”

ตีพิมพ์ในวารสาร คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับเดือนมกราคม ปี ๒๕๔๔



คอนสแตนติน ฟอลคอน ในชุดบาดหลวงเยซูอิต
พระนารายณ์รับพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ผ่านท่านทูตโชมงต์ วันที ๑๘ ตุลาคม คศ.๑๖๘๕

โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น