สวัสดีปีใหม่ 2011 ลาก่อนทศวรรษที่ 1 แห่งคริสตศตวรรษที่ 21
สิบปีผ่านไป กรุงเทพฯ ของเราเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีหรือไร
ประชากรกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเพิ่มขึ้นมาเกือบ 10% จาก 9 ล้านกว่าคนในปี พ.ศ. 2542 เป็น 10 ล้านกว่าคนในปี พ.ศ. 2552 ยังไม่นับประชากรแฝง
จำนวนคนว่ามากแล้ว แต่จำนวนรถยนต์จดทะเบียน กทม.ยิ่งเพิ่มมากกว่าถึง 32% จาก 4 ล้านกว่าคันในปี พ.ศ. 2542 เป็น 6 ล้านกว่าคันในปี พ.ศ. 2552 และกราฟยังคงพุ่งสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทุกปี ช่วงนี้ขึ้นปีละ 3% แต่ก่อนยุคน้ำมันแพงจำนวนรถขึ้นเฉลี่ยปีละ 13%
ก็เป็นธรรมดา เพราะตราบใดที่ระบบจราจรเอื้ออำนวยความสะดวกสบายแก่รถยนต์ส่วนตัวมากที่สุด จำนวนรถก็ยังคงจะถีบตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แม้รถจะติด แต่อย่างน้อยๆ ก็ได้นั่งฟังเพลงที่ชอบอยู่ในรถติดแอร์ ดีกว่านั่งในรถเมล์ซึ่งก็ติดอยู่บนถนนเดียวกัน ไม่มีเลนพิเศษให้วิ่งฉิวๆ
ระหว่างที่นั่งอยู่ในรถติด ติดเครื่องเปิดแอร์เฉยๆ ไม่วิ่งขยับไปไหน น้ำมันก็ถูกเผาผลาญไปเปล่าๆ ราว 0.2-0.4 ลิตรทุกๆ 10 นาที คิดเป็นเงิน 6-13 บาท ถ้าลองคำนวณขั้นต่ำ สมมุติว่า 10% ของรถยนต์กว่า 6 ล้านคันในกรุงเทพติดนิ่งอยู่ 10 นาที ก็คิดเป็นเงินได้ราว 3.7 ล้านบาท ถ้าติด 1 ชั่วโมง ก็เป็น 22 ล้านบาท
ลองคิดเป็นบัญชีส่วนตัว ถ้าผู้เขียนขับรถจากบ้านไปที่ทำงาน แล่นสบายๆ ไม่ติดขัดเลย จะใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที แต่ในความเป็นจริงของสภาพจราจรกรุงเทพ มันใช้เวลา 60 นาทีหรือบางทีก็มากกว่านั้น ถ้าขับไปกลับเดือนละ 20 วัน ผู้เขียนจะใช้เวลานั่งในรถติดเครื่องเฉยๆ แทบไม่ขยับไปไหนปีหนึ่งประมาณ 240 ชั่วโมง ใช้น้ำมันแกซโซฮอล 95 ก็เสียตังค์ไปเปล่าๆ อย่างน้อย 10,000 บาทต่อปี เพียงเพื่อปล่อยก๊าซพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อปอดมนุษย์
ถ้าคนขับรถไปทำงานในกรุงเทพ 10% มีสภาพเดียวกัน ก็นับว่าเราเผาเงินกันเล่นปีละ 6-11 พันล้านบาท
แน่นอนว่าถ้าเราคิดค่าสูญเสียจากรถติดอย่างจริงจัง ตัวเลขที่เคาะออกมาจะสูงกว่านี้มาก ลำพังค่าเสียน้ำมันก็น่าจะสูงกว่าที่คำนวณนี้อยู่แล้ว เพราะรายงานธนาคารโลกประเมินว่าการเดินทางประจำวันของคนกรุงเทพใช้รถยนต์ส่วนตัวถึง 46% อันนี้ไม่ได้รวมแท็กซี่ และถ้าบวกค่าสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจ ค่าปัญหาสุขภาพ ทั้งป่วยทั้งตาย นึกไม่ออกเลยว่ายอดรวมจะเป็นเท่าไหร่ ฝากการบ้านกับนักเศรษฐศาสตร์ด้วย มึนหัว เมื่อยนิ้ว จิ้มเครื่องคิดเลขไม่ไหวแล้ว
รถติดเป็นปัญหาใหญ่ราคาแพง ใครๆ ก็รู้ ไม่ต้องสงสัยเลย
เราพยายามแก้ปัญหาด้วยการขยายถนนสร้างทางด่วน แต่ถึงวันนี้ก็ขยายกันสุดๆ แล้ว จะไล่ที่ชาวบ้านร้านช่องมาให้รถวิ่งเพิ่มอีกก็ทำไม่ได้อีกต่อไป ช่วงนี้รัฐบาลจึงคิดสร้างถนนคร่อมถนนเพื่อเพิ่มเลน อาทิ โครงการถนนเพชรบุรียกระดับยาว 5 กิโลเมตร ราคา 3 พันล้านบาท ถนนเพชรบุรีที่รถติดเต็มทั้ง 8 เลน ก็จะได้เลนวิ่งตรงเพิ่มอีก 4 เลน ซึ่งต่อไปก็จะติดอีก เมื่อรถยนต์เพิ่มจำนวน
หันมาที่ระบบราง โครงการพัฒนารถไฟฟ้า 6 สาย 300 กว่ากิโลเมตรใน 10 ปีหน้า งบประมาณ 8 แสนล้านบาท เป็นรถรางสายปรารถนาถ้ากรุงเทพไม่จมน้ำเสียก่อนได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ แต่ถึงจุดหนึ่ง การพัฒนาระบบรางก็จะเจอเพดาน เต็มขีดศักยภาพ ขยายรองรับจำนวนประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ต่อไป เหมือนที่เกิดขึ้นในกรุงลอนดอน
อีกทางเลือกหนึ่งได้แก่ทางจักรยาน ใช้พื้นที่น้อย สร้างได้เร็ว ราคาถูกกว่าเส้นทางคมนาคมอื่นชนิดเทียบกันไม่ติด ผู้เขียนไม่มีตัวเลขงบสร้างทางจักรยานในบ้านเรา แต่ถ้าดูราคาทางจักรยานคุณภาพดีจากเมืองอื่น อาทิ โบโกต้า ลองบวกลบคูณหารเปรียบเทียบเล่นๆ เป็นไอเดียพอสังเขปกับงบประมาณโครงการก่อสร้างเส้นทางอื่น จะพบว่ารถไฟฟ้าราคากิโลเมตรละ 27 พันล้านบาท (ซึ่งน่าจะรวมค่าตัวรถ) ถนนยกระดับสี่เลนกิโลเมตรละ 600 ล้านบาท ส่วนทางจักรยานกิโลเมตรละไม่เกิน 5 ล้านบาท รวมสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นที่จอดรถจักรยานเข้าไปด้วย
ที่สำคัญ ทางจักรยานไม่เพียงแต่ชักทุนคืนได้เร็วมากถ้าทำให้มันใช้ได้สะดวกและปลอดภัย หากประสบการณ์ในประเทศอื่นๆ ยังพบว่าสามารถคืนทุนถึง 3-7 เท่า เพราะลงทุนเบื้องต้นต่ำ และการใช้งานนำไปสู่การประหยัดน้ำมันอย่างมหาศาล
มันง่ายขนาดนี้ แต่จักรยานก็ยังไม่อยู่ในสายตาของผู้กำหนดนโยบายจราจร ไม่อยู่แม้แต่ในร่างแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสำนักแผนและนโยบายสิ่งแวดล้อม (สผ) ของประเทศ
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะกลัวกันว่ามีพื้นที่ถนนไม่พอ มีเท่าไหร่ต้องเก็บให้รถยนต์วิ่ง เนื่องจากรถยนต์มีมาก จักรยานมีน้อย (ก็จักรยานกลัวรถยนต์) และก็..อย่างว่า..คนวางนโยบายเป็นคนใช้รถยนต์
สิ่งหนึ่งที่ต้องพยายามทำความเข้าใจกัน คือการแบ่งพื้นที่ถนนมาให้จักรยาน ที่สุดแล้วจะเป็นผลดีแก่ผู้ใช้รถยนต์เอง เพราะเมื่อการใช้จักรยานสัญจรสะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น ขี่ได้ทั่วไป คนจำนวนไม่น้อยจะเลือกใช้จักรยาน และคนอยากขี่จักรยานจำนวนไม่น้อยเป็นชนชั้นกลางที่มีเงินซื้อทั้งรถยนต์และจักรยาน การดึงดูดคนกลุ่มนี้ออกมาใช้จักรยานแทนขับรถยนต์ หมายถึงการลดจำนวนรถยนต์บนถนนลง ทำให้รถที่วิ่งอยู่แล่นได้สะดวกขึ้น หรืออย่างมากก็ติดเท่าเดิม
แทนที่จะแก้ปัญหารถติดด้วยการเพิ่มเลนรถยนต์ เราสามารถไปสู่เป้าเดียวกันด้วยการลดจำนวนรถยนต์ลง แปรจำนวนส่วนเกินให้เป็นจักรยาน
ค่อย สวัสดิวัตน์ ทอมสัน อดีตผู้อำนวยการองค์กรรณรงค์จักรยานลอนดอน อธิบายได้ตรงประเด็น “คุณไม่ต้องรักคนขี่จักรยาน คุณอาจจะหมั่นไส้เราก็ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คุณต้องเลือกที่จะสนับสนุนจักรยาน เพราะมันเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับคุณ และที่สุดแล้วคุณไม่มีทางเลือกอื่น”
ราคาถูก สร้างได้เร็ว กินที่น้อย ไม่ตดเหม็น ลดจำนวนรถยนต์ คือคุณประโยชน์ทางจักรยาน
สวัสดีปีใหม่ จุ๊บๆ
กรุงเทพธุรกิจ: โลกในมือคุณ, 6 มกราคม 2554
ที่มา: http://tinyurl.com/35n99sa
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น