BFB ย่อมาจาก bicycle-friendly business
หมายถึงธุรกิจหรือสถานที่ประกอบการที่เป็นมิตรต่อการใช้จักรยานเป็นพาหนะสัญจร อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและพนักงานนักปั่น และถ้าเจ๋งจริงก็ต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานปั่นจักรยานมาทำงานเป็นพิเศษอีกด้วย
ก็แล้วทำไมธุรกิจต้องหันมาส่งเสริมจักรยานล่ะ? ถ้าเราขายไอติม ผลิตพัดลม ออกแบบรองเท้า และแม้แต่ขายรถยนต์ มันมาเกี่ยวอะไรกับการขี่จักรยาน?
เพราะจักรยานเป็นทางออกสารพันปัญหาสังคมแบบหมัดเดียวได้หลายเด้งครบยก แก้ปัญหาจราจรในราคาแสนถูก แก้ปัญหาที่จอดรถไม่พอ แก้ปัญหามลพิษอากาศและโลกร้อน แก้ปัญหาโรคอ้วน โรคหัวใจ ประหยัดเวลา ประหยัดพื้นที่ ประหยัดน้ำมัน ประหยัดสตางค์ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ จักรยานแวะจอดได้ทุกที่ ขนของได้สบาย จึงสามารถอุดหนุนร้านรวงทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ในเมือง เงินสะพัดทั่วถึง
แม้ว่ารัฐไทยจะยังมองไม่เห็นความสำคัญของจักรยานในฐานะพาหนะสัญจร แต่ภาคเอกชนสามารถก้าวหน้าไปก่อนได้ โดยส่งเสริมการใช้จักรยานให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรับผิดชอบต่อสังคม หรือโปรแกรมซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility, CSR) เล่นได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับดำเนินงานประกอบการธุรกิจของตนเอง จนไปถึงระดับส่งเสริมวาระจักรยานในสังคมวงกว้าง ทั้งหมดทำได้ง่ายๆ ด้วยต้นทุนเพียงน้อยนิด แถมได้ผลประโยชน์เป็นเม็ดเงินเพิ่มขึ้นด้วย
ไม่นานมานี้ มีการวิจัยในประเทศเนเธอร์แลนด์เปรียบเทียบอัตราวันลาป่วยระหว่างพนักงานที่ขี่จักรยานมาทำงานกับคนไม่ขี่ พบว่าคนขี่จักรยานเป็นประจำลาป่วยน้อยกว่า ยิ่งปั่นไกล ปั่นบ่อย ยิ่งแข็งแรง ความแตกต่างเห็นชัดในกลุ่มคนที่ขี่จักรยานอย่างน้อยวันละ 30 นาที สรุปว่าถ้ามีคนขี่จักรยานไปทำงานเพิ่มขึ้นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงปีละ 27 ล้านยูโร (1,146 ล้านบาท)
พื้นที่ใช้จอดรถหนึ่งคัน สามารถจอดจักรยานได้ถึง 10-12 คัน การสำรวจในยุโรปยังพบว่าคนขี่จักรยานแวะซื้อของบ่อยกว่าคนขับรถยนต์ ในสวิสเซอร์แลนด์มีการคำนวณสัดส่วนราคาสินค้าที่นักช้อปจับจ่ายกับขนาดพื้นที่ที่ใช้บนลานจอดรถในรอบหนึ่งปี พบว่าคนขี่จักรยานซื้อของต่อตารางเมตรมากกว่าคนขับรถถึง 875 ยูโร (37,138 บาท) ห้างร้านที่ฉลาดจึงต้องทำที่จอดล็อครถจักรยาน
นี่ยังไม่ได้คำนวณค่าน้ำมันที่พนักงานประหยัดได้จากการเดินทางมาทำงาน หรือค่าน้ำมันที่บริษัทใช้ในการวิ่งทำธุระจิปาถะ เช่น ส่งเอกสาร ซื้อบะหมี่และโอเลี้ยง ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำมาคิดเป็นเครดิตคาร์บอนของบริษัทได้ เอาไปแสดงในรายงานซีเอสอาร์ หรือรายงานการพัฒนายั่งยืนประจำปีได้สบายมาก ไม่มีข้อกังขาว่าตอแหลฟอกเขียวใดๆ เป็นเรื่องจริงที่จับต้องได้ทันที
การส่งเสริมจักรยานจึงเป็นซีเอสอาร์ที่มีเครดิตดีพอๆ กับการปลูกต้นไม้ และทำได้ง่ายกว่าการเดินทาง (ด้วยรถยนต์) ไปปลูกต้นไม้นอกเมืองเสียอีก
แล้วทำยังไงจึงจะเป็น BFB ?
ประการแรกคืออำนวยความสะดวกทางกายภาพแก่จักรยาน มีที่จอดล็อคจักรยานที่ปลอดภัยติดตั้งอยู่ใกล้ทางเข้าอาคาร หรือมีที่ฝากจักรยานพับได้ภายในอาคาร เพราะทุกวันนี้ คนใช้จักรยานที่นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้น พบปัญหาที่จอดจักรยานขาดแคลน แถมอาคารหลายแห่งยังแสดงอาการรังเกียจจักรยานชัดเจน กลุ่มผู้ใช้จักรยานจึงพากันไปอุดหนุนร้านรวงที่ต้อนรับจักรยาน เลือกเป็นจุดนัดพบ
และถ้าเป็นไปได้ สถานที่ประกอบการควรมีห้องอาบน้ำ ล็อคเกอร์เปลี่ยนเสื้อผ้า สำหรับพนักงานที่ขี่จักรยานมาทำงาน บริษัทใหญ่ๆ สามารถไปไกลถึงขั้นจัดสรรจักรยานบริการให้พนักงานใช้ปั่นระหว่างสถานีขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า กับอาคารบริษัท และถ้าให้ดีก็เผื่อแผ่แก่สาธารณชนเช่าใช้ในละแวก โดยประสานกับเขต กทม.ขออนุญาตติดตั้งจุดบริการจักรยาน เป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรไปในตัว
ประการที่สองคือส่งเสริมการใช้จักรยาน ทำได้มากมายหลายรูปแบบ เช่น สร้างแรงจูงใจให้พนักงานขี่จักรยานโดยให้สิทธิพิเศษ เป็นต้นว่า โบนัสพิเศษ วันหยุดเพิ่ม ให้เวลายืดหยุ่นในการเข้างาน 15 นาที และมีโปรแกรมให้ความรู้กับพนักงงานหัดใช้จักรยานเดินทางอย่างปลอดภัย โดยติดต่อขอวิทยากรจากชมรมจักรยานหรือกลุ่มจักรยานต่างๆ ไปให้คำแนะนำ พาหัดขี่บนถนน และช่วยเหลือให้คำปรึกษาหาเส้นทางดีๆ สำหรับจักรยาน ออกนโยบายการแต่งตัวสุภาพที่เหมาะสมกับประเทศเขตร้อนในที่ทำงาน ซึ่งเอื้อต่อการขี่จักรยาน ตลอดจนประสานความร่วมมือทางธุรกิจกับร้านจักรยานในการขอส่วนลดพิเศษแก่พนักงาน แลกเปลี่ยนกับการส่งลูกค้าให้ร้าน
เพียงแค่นี้ ธุรกิจก็สามารถถักทอวัฒนธรรมจักรยาน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือวัฒนธรรมเมืองน่าอยู่และยั่งยืน มีสุขภาวะดี เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ถ้าจะเล่นให้ไกลถึงสังคมวงกว้างก็ไม่ยาก ที่กรุงปารีส ธุรกิจหลายแห่งรวมหัวตกลงกันส่งเสริมจักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน โดยสอดแทรกภาพการใช้จักรยานในโฆษณาสินค้าของตัวเอง
แต่โดดเด่นสุดต้องยกให้ภาพยนต์โฆษณารถยนต์ยี่ห้อเกียที่ฉายในแคนาดา รณรงค์ให้คนขับรถยนต์ปรับทัศนคติ รู้จักแบ่งพื้นที่ถนนกับจักรยาน ด้วยสโลแกน “KIA Sportage มีสมรรถภาพที่จะครองทุกถนน แต่ชอบแบ่งปันกันมากกว่า เพราะการแบ่งปันช่วยให้เราขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลง” (ค้น youtube: KIA 2011 sportage commercial – share the road) หลายคนดูแล้วตะขิดตะขวงใจ โดยเฉพาะว่ามันเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อเอนกประสงค์ (SUV) ไม่ใช่รถประหยัดน้ำมัน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นโฆษณาที่ฉลาด เป็นรถยนต์ยี่ห้อแรกที่รู้จักช่วงชิงการนำแนวคิดเอ็นจีโอปูทางสู่ตลาดอนาคต เก็บคะแนนกับค่านิยมใหม่ กับกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ได้แก่ คนมีกำลังซื้อรถ แต่เลือกขี่จักรยานในเมือง และใช้รถเป็นเพียงเครื่องมือสนองกิจกรรมยามจำเป็น เช่น เมื่อขนของหรือเมื่อเดินทางออกนอกเมือง เกียผลิตทั้งรถยนต์และจักรยาน เขาไม่ปล่อยให้สินค้าตกยุคในโลกที่สังคมแคร์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน
รัฐอาจจะเชย แต่เอกชนต้องเล็งเห็นอนาคต สังคมจักรยานในกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นแน่นอน แต่จะพัฒนาได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น ถ้าสังคมหลายกลุ่มช่วยเสริมกัน
มาเป็นธุรกิจ BFB กันเถอะ
กรุงเทพธุรกิจ: โลกในมือคุณ, กุมภาพันธ์ 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น