วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ประชานิยมกับสังคมคาร์บอนต่ำ

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประกาศนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญประการหนึ่ง
ซึ่งถือเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศฝรั่งเศส
กล่าวคือรัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติงบประมาณจำนวนเกือบ
5 แสนล้านบาท
เพื่อลงทุนในการสร้างอภิมหาโปรเจคผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบกังหันลมนอกชายฝั่งทะเล
เป็นการยืนยันว่า จากนี้เป็นต้นไป ฝรั่งเศสจะเดินหน้าการผลิตไฟฟ้าทางเลือก
เพื่อลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซหรือน้ำมัน
และขณะเดียวกัน ก็ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย
ฝรั่งเศสประกาศว่า
จะมีส่วนในการลดโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยใช้พลังงานสะอาด
อีกประมาณ 4 ปีข้างหน้า
กังหันลมขนาดยักษ์จำนวนกว่า 1,200
แห่งตลอดแนวชายฝั่งทะเลด้านเหนือและด้านตะวันตกของประเทศ
จะผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 3,000 เมกกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 4
ของปริมาณไฟฟ้าทั้งประเทศ และตั้งเป้าหมายว่าอีก 9 ปีข้างหน้า
การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมจะได้กระแสไฟฟ้าประมาณร้อยละ 23
ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ
ที่ผ่านมาฝรั่งเศสมีความเชื่อเสมอว่า “พลังงานคืออำนาจ”  และเป็นเวลาร่วมครึ่งศตวรรษแล้ว
ตั้งแต่สมัยชาร์ลส์ เดอโกล เป็นประธานาธิบดี
ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อันดับต้น ๆของโลก  ร้อยละ 80
ของการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานนิวเคลียร์
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป  โลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ของโลก
ประกอบกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด จากสึนามิในเมืองฟูกูชิมา
ประเทศญี่ปุ่น  ฝรั่งเศสยังยืนยันว่า
พลังงานคืออำนาจ แต่ที่มาของพลังงานได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
พลังงานสะอาดและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือคำตอบในอนาคตของประเทศแห่งหนึ่งที่มีขนาดพื้นที่
ประชากรและรสชาติความอร่อยของอาหารใกล้เคียงกับประเทศไทย
และวันที่ 22 กันยายนของทุกปี
ทั่วโลกได้กำหนดให้เป็น “วันปลอดรถ ลดโลกร้อน”  หรือ CAR FREE DAY  ซึ่งมีผู้คนมากกว่า 100 ล้านคน
จาก 1,500 เมืองทั่วโลก จะร่วมกันรณรงค์ลดการใช้รถ
ลดการใช้พลังงาน ลดภาวะวิกฤติโลกร้อน
แต่ที่ประเทศไทย เมื่อพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลได้ไม่กี่วัน
ยังไม่ได้ประกาศจุดยืนด้านพลังงานว่าจะไปในทิศทางใด ไม่มีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหาโลกร้อนอย่างชัดเจน   ได้ประกาศลดราคาน้ำมันเบนซิน 91 95
และน้ำมันดีเซลลงอย่างฮวบฮาบถึงลิตรละ 6-7 บาท  ส่งผลให้ผู้คนแห่กันมาเติมน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลจนขาดตลาดทันที
และคาดว่าจะเป็นแรงจูงใจมหาศาลให้ผู้คนหันมาใช้น้ำมันเหล่านี้อย่างฟุ่มเฟือยอีกครั้งหนึ่ง
นักสังเกตการณ์หลายคนเห็นพ้องกันว่า
การจราจรในเมืองหลวงที่เคยติดหนักอยู่แล้ว แทบจะเป็นอัมพาตไปอีกหลายวัน
หลังจากผู้คนแห่ไปเติมน้ำมันกันอย่างล้นหลาม
นอกจากจะทำให้เงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันหายไปเดือนละ 6,000
กว่าล้านบาทแล้ว  รัฐบาลได้สร้างแรงจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น
สวนทางกับการแก้ปัญหาจราจร และสวนทางกับนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เพื่อหวังเอาใจคนจำนวนหนึ่งตามนโยบายประชานิยม
ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้กล่าวว่า
“ ในช่วง 48
ช่วงโมงภายหลังราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลลดลง มีคนแห่ไปเติมน้ำมันดังกล่าว
ส่งผลให้ปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นถึง 3,544 ตัน ทั่วประเทศ
วัดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเบนซินเท่านั้น ไม่รวมดีเซล เข้าใจว่า
หากรวมเอาน้ำมันดีเซลเข้าไปด้วย ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงมากกว่านี้แน่นอน
ทั้งนี้จากข้อมูลการใช้น้ำมันรวมก่อนประกาศ มาตรการนี้ เดือน กรกฎาคม 2554   พบว่า ปริมาณการใช้ เบนซีน 91 และ 95 อยู่ที่
7.49 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 อยู่ที่ 12  ล้านลิตรต่อวัน ดีเซล อยู่ที่ 51.20
ล้านลิตรต่อวัน หลังจากประกาศ ทำให้ยอดการใช้เบนซินเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ลดลง
ส่งผลต่อสถานการณ์ดังกล่าว”
คนจำนวนมากคงทราบดีว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ทั้ง 95 และ 91  มีส่วนผสมของเอทานอลไม่เกินร้อยละ 10  รถยนต์ระบบหัวฉีดสามารถใช้แทนน้ำมันเบนซินได้ทันที
โดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องยนต์เลย
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศต่างๆ
แทบทุกทวีปทั่วโลก เช่น อเมริกา แคนาดา บราซิล เคนยา ปารากวัย สเปน สวีเดน
ออสเตรเลีย จีน ฯลฯ เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีผลดีหลายอย่าง
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ อาทิ อ้อย กากน้ำตาล
และมันสำปะหลัง ซึ่งล้วนแต่สามารถจัดหาและปลูกขึ้นได้ใหม่ในเวลาอันสั้น
นับเป็นเวลาร่วมสิบกว่าปีแล้ว รัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา
ได้พยายามผลักดันและรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ เพื่อเป็นการลดการใช้น้ำมัน
และถือเป็นพลังงานสะอาดลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นชั้นบรรยากาศของโลก
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างงานให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย มันสำปะหลัง
วัตถุดิบสำคัญในการผลิตเอทานอล
แต่ดูเหมือนไม่มีใครตั้งคำถามกับรัฐบาลดัง ๆ
ถึงจุดยืนในเรื่องนโยบายพลังงานอย่างจริงจัง ว่าจะเดินไปในทิศทางใด
หลังจากที่ผ่านมา รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืช และสนับสนุนให้เอกชนตั้งโรงงานผลิตเอทานอลมาโดยตลอด  ความไม่แน่นอนของนโยบายพลังงาน
ส่งผลให้ราคาพืชอ้อย มันสำปะหลังตกลงอย่างกระทันหัน
และ ภายในเดือนหน้า รัฐบาลประกาศจะลดภาษีให้กับรถยนต์คันแรก
ยิ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนซื้อรถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น  ส่งเสริมให้คนใช้น้ำมัน สวนทางกับนโยบาย
สังคมคาร์บอนต่ำโดยสิ้นเชิง  กล่าวคือ นับแต่นี้เป็นต้นไป
สังคมไทยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศปีละ 350 ล้านตัน จะต้องไม่เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอีกต่อไป
มีแต่จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดลงเท่านั้น
สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon
Society มีความหมายตรงตัว ไม่ได้ซับซ้อนอะไร กล่าวคือ
เป็นสังคมที่ ผู้คน ส่วนใหญ่หันมาร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกรูปแบบหรือในกิจกรรมต่างๆ
ที่เกิดจากการดำรงชีวิตปกติ  โดยเฉพาะน้ำมัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันในสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นปณิธานที่ประเทศทั่วโลกได้ให้สัตยาบันเอาไว้แล้ว
ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้คนในประเทศลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ
2 ล้านกว่าตัน ตามนโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ
แต่สำหรับประเทศไทย นโยบายประชานิยมลด แลก แจก
แถม ดูจะติดจรวดทิ้ง สังคมคาร์บอนต่ำไปไกลลิบอย่างไม่เห็นฝุ่น

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์​
มติชน  11 กันยายน 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น