เช้าวันที่ 9 พฤศจิกายน (ตามเวลาประเทศไทย) เฝ้าจับตาดูดาวเคราะห์น้อย 2005 YU55 ซึ่งจะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ระยะ 319,000 กิโลเมตร จากโลก หรือประมาณ 0.85 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์
ดาวเคราะห์น้อย 2005 YU55 ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Arcibo
ดาวเคราะห์น้อย 2005 YU55 ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2548 โดย Robert McMillan ที่หอดูดาว Steward รัฐ Arizona มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 400 เมตร มีการสะท้อนแสงที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบหลัก ใช้เวลาหมุนรอบตัวเองประมาณ 18-20 ชั่วโมง และมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 1.22 ปี
ในปีแรกของการค้นพบ 2005 YU55 ได้สร้างความตระหนกให้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีกระแสข่าวลือว่าดาวเคราะห์น้อย 2005 YU55 จะพุ่งชนโลกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 แต่จากการคำนวณอีกครั้งของนักดาราศาสตร์จากหอดูดาว Arecibo (Arecibo observations) พบว่าในระยะ 100 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะไม่ชนโลกอย่างแน่นอน
เส้นทางการโคจาของ 2005 YU55
ปัจจุบันดาวเคราะห์น้อย 2005 YU55 ถูกจัดอันดับความอันตรายไว้ที่อันดับ 1 ตามตาราง Torino scale คือแค่เฉียดผ่านเข้าใกล้โลกเท่านั้น แต่ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อโลก และในวันที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดคือวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 6.28 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จะมีอันดับความสว่างอยู่ที่ 11.2 มีตำแหน่งปรากฏ ณ บริเวณกลุ่มดาวนกอินทรีย์ (Aquila) และช่วงบ่ายวันที่ 9 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 14.13น. ดาวเคราะห์น้อย 2005 YU55 จะเฉียดเข้าใกล้ดวงจันทร์ ที่ระยะ 239,000 กิโลเมตร และหลังจากนั้นจะเข้าใกล้โลกอีกครั้งวันที่ 19 มกราคม 2572 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า
ตำแหน่ง ปรากฏของ 2005 YU55 ซึ่งจะเข้าใกล้โลกและมองเห็นได้ในระหว่างวันที่ 8-9 พ.ย. 2554 แต่เนื่องจากช่วงเวลาที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด เป็นเวลากลางวันของประเทศไทย จึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์โดยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม หนึ่งปีก่อนการกลับมาใกล้โลกอีกครั้งของ 2005 YU55 ประชาชนบนโลกอาจได้ลุ้นอีกเล็กน้อย เมื่อดาวเคราะห์น้อย 2001 WN5 จะเฉียดเข้าใกล้โลกที่ระยะ 248,000 กิโลเมตร
รายงานข่าวโดย
สมานชาญ จันทร์เอี่ยม
สำนักบริการวิชาการฯ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
แหล่งที่มา
ข้อมูลเพิ่มเติม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น