เมื่อปี 2538 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น หรือดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก ก่อนหน้าการค้นพบนั้น นักดาราศาสตร์คาดหวังว่า ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นน่าจะมีลักษณะไม่ต่างจากดาวเคราะห์ครอบครัวระบบสุริยะของเรามากนัก แต่การค้นพบก็ทำให้ต้องประหลาดใจไปตามกัน เพราะดาวเคราะห์ที่พบเป็นดาวเคราะห์แก๊สมีขนาดใหญ่กว่ามาก ซ้ำยังโคจรรอบดาวฤกษ์ในระยะใกล้มาก มีอุณหภูมิพื้นผิวเกิน 1,000 องศาเซลเซียส โคจรครบรอบภายในไม่กี่วัน ซึ่งมีลักษณะต่างจากดาวเคราะห์ที่นักดาราศาสตร์รู้จักโดยสิ้นเชิง
จนถึงปัจจุบัน นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นแล้วกว่า 400 ดวง ในจำนวนนี้ เกือบทั้งหมด ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงแรกที่พบ
นักดาราศาสตร์เรียกดาวเคราะห์ประเภทนี้อย่างไม่เป็นทางการว่า "พฤหัสร้อน"
ในปี 2551 ดาวเทียมคอรอตของฝรั่งเศสค้นพบดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง อยู่ห่างออกไป 1,500 ปีแสงในกลุ่มดาวงู ชื่อ คอรอต-9 บี (CoRoT-9b) ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดาวฤกษ์ครบรอบภายในเวลา 95 วัน ซึ่งมากกว่าคาบของดาวพุธเล็กน้อย (88 วัน)
เช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์แก๊ส มีมวลประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของดาวพฤหัสบดี แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ -20 ถึง 160 เซลเซียส ช่วงอุณหภูมิที่ห่างกันมากนี้เกิดจากความไม่แน่นอนของจำนวนและอัตราสะท้อนแสงของเมฆในบรรยากาศชั้นสูงของดาวเคราะห์ดวงนี้
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวคอรอต-9 บี จากการตรวจจับแสงดาวฤกษ์ที่หรี่ลงจากดาวเคราะห์ผ่านหน้า ดาวเคราะห์ที่ค้นพบด้วยวิธีนี้มีเพียง 70 ดวงเท่านั้น
การที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ หมายความว่าแสงจากดาวฤกษ์จะส่งผ่านบรรยากาศของดาวเคราะห์มายังโลก ทำให้นักดาราศาสตร์ทราบขนาดและองค์ประกอบทางเคมีของดาวเคราะห์ได้
จึงนับเป็นเรื่องดีที่นักดาราศาสตร์จะได้ศึกษาดาวเคราะห์ต้นแบบของประเภทพฤหัสเย็นได้ในเชิงลึก
ที่มา:
- 'Cool Jupiter' widens search for exoplanets - COSMOS Magazine
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น