วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ไผ่ วัตถุดิบศตวรรษ 21

ใครๆ ก็รู้ว่าไผ่เป็นพืชมหัศจรรย์สารพัดประโยชน์ อยู่เคียงข้างประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเรามาหลายพันปี  พัวพันกับชีวิตตั้งแต่จากครรถ์มารดาสู่เชิงตะกอน อุแว้ออกมาก็ใช้มีดไผ่คมกริบตัดสายสะดือ พอตาย ก็เอาแคร่ไม้ไผ่หามร่างเอาไปเผา เผลอๆ อาจได้ไฟจุดจากไม้ไผ่ผ่าซีกอีก

แม้ว่าไผ่จะขึ้นกระจายกว้างไกลอยู่ทั่วโลก แต่คนเอเชียมีวัฒนธรรมไผ่โดดเด่นกว่าใคร จนไผ่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเอเชีย เป็นความงาม เรียบง่าย เต๋า เซน และเศรษฐกิจพอเพียงเนื่องจาก เรามักจะมองเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีชีวิตแสนสุขของคนมักน้อยแห่งวันวาน พอให้นึกถึงไม้ไผ่ เราก็จะเห็นแต่ภาพเครื่องจักสานและกระท่อมโย้ปลายนา  ถ้ารวยเก๋มีรสนิยมวิไล ก็อาจนำไปประกอบบรรยากาศสปารีสอร์ต เพื่อชื่นชมได้ปลื้มกับสัมผัสรักษ์ธรรมชาติเรียบๆ ง่ายๆ ของตัวเองในราคาหลักหมื่น

แต่ถ้าคุณกูเกิ้ลเข้าไปค้นหาแบมบูแก็ตเจ๊ต และนวัตกรรมโมเดิร์นจากไผ่ คุณจะพบว่าไผ่กำลังเป็นวัตถุดิบที่ฮ๊อตที่สุดในยุคโลกร้อน

เรา ไม่พูดถึงกระบุงตะกร้า เก้าอี้ดีไซเนอร์ ชิ้นส่วนตกแต่งภายใน หรือแม้แต่ฝาปิดคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของเอซัสที่ทำจากไผ่  แต่ขอบอกว่าสินค้าไผ่ยุคนี้กำลังก้าวล้ำพรมแดนวัสดุอื่น รายการกูเกิ้ลจึงมีกางเกงในและบราเซียผ้าใยไผ่  พลาสติกเขียวมิตซูบิชิ จักรยานไม้ไผ่ และกระดานโต้คลื่นรางวัลชนะเลิศ ด้วยคุณสมบัติเหนือกระดานไฟเบอร์กลาสชนิดเทียบแทบไม่ติด

ไผ่เป็นหญ้ายักษ์โบราณที่มีความแข็งแรงของไม้และความโอนอ่อนของต้นหญ้าผสมผสานในเนื้อเดียวกัน เหนียว แกร่ง เบา มีสปริงยืดหยุ่นไปพร้อมๆ กัน
 อันนี้เป็นคุณสมบัติของยอดบู๊ลิ้ม เป็นเคล็ดลับของศิลปะการต่อสู้ตะวันออก ที่วิศวกรและสถาปนิกทั่วโลกกำลังหลงไหล

 simon_velez













ไซมอน เวเลซ สถาปนิกชาวโคลัมเบีย ผู้สร้างโครงสร้างไม้ไผ่กว้างใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปีที่แล้วที่เม็กซิโกซิตี้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 55,000 ตารางฟุต ถึงกับตั้งสมญานามไม้ไผ่ว่า “Vegetal Steel” – เหล็กกล้าพืช พร้อมกับบอกว่า “ลืมเหล็กกล้าและคอนกรีตไปได้เลย วัสดุก่อสร้างของศตวรรษที่ 21 ดูท่าว่าจะเป็นไม้ไผ่”

ที่สำคัญ ไผ่เป็นพืชบกที่โตเร็วที่สุดในโลก บางชนิดโตได้เกือบ 1 เมตรต่อวัน และสามารถปลูกเป็นสวนป่าใช้งานได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี โดยไม่ทำลายดิน มันจึงเป็นวัสดุที่สามารถจัดการให้ยั่งยืนได้ไม่ยาก เพราะผลิตหมุนเวียนในพื้นที่จำกัดได้เร็ว

ไผ่จึงตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในยุคคนล้นโลก ป่าหดหาย น้ำเป็นพิษ แผ่นดินปนเปื้อน ภูมิอากาศแปรปรวน ได้ดีกว่าวัตถุดิบอื่นๆ ที่เราใช้ๆ กันอยู่

เนื้อเยื่อของไผ่สามารถนำมาทำเป็นผ้าคุณภาพดี ใส่สบายพอๆ กับผ้าลินินและผ้าฝ้าย แถมไม่ใช้สารเคมีปลูกอย่างไร่ฝ้ายส่วนมาก และมีคุณสมบัติพิเศษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย คนผิวขี้แพ้ใส่ได้สบาย

ผ้าใยไผ่จึงกำลังเป็นที่ฮือฮาในวงการแฟชั่น โดยเฉพาะในหมู่ดีไซเนอร์หัวใจเขียวอย่าง แคทเธอรีน แฮมเน็ต และลินดา เลาวเดอร์มิลค์  เชื่อว่าเมื่อกระบวนการผลิตพัฒนาขึ้น เราจะเห็นผ้าใยไผ่กันมากกว่านี้

จุดอ่อนของไผ่ที่ทำให้คนยุคโมเดิร์นศตวรรษ 20 ไม่คิดใส่ใจมันมากนัก อยู่ที่ปัญหาอายุการใช้งาน ราชสีห์แพ้หนูฉันใด ไผ่ก็แพ้แมลงฉันนั้น  โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรไม่ให้บ้านไม้ไผ่ผุพังภายใน 5-6 ปี

แต่สัตว์ฉลาดอย่างมนุษย์ ขอให้ตั้งใจเสียอย่าง ทำได้อยู่แล้ว เทคโนโลยีการทรีตไม้ไผ่จึงก้าวหน้าขึ้นมากในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา
การทรีตไม้ไผ่ในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธีและหลายขั้นตอนรวมเบ็ดเสร็จราว 3 เดือน บางวิธีใช้สารเคมีที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนใจคือการใช้ความร้อนอุณหภูมิไม่สูงมาก วิธีนี้ต้องใช้มือทำ ค่อยๆ ลนไฟลำไม้ไผ่ทีละท่อน ละท่อน แต่ละท่อนใช้เวลา 20-30 นาที  พี่ชายวิศวกรของฉันเพิ่งสร้างบ้านในฝันครึ่งหลังด้วยวิธีนี้ เป็นกระบุงยักษ์ที่สานเป็นฝาผนังแผ่ขึ้นมาเป็นหลังคา กะว่าอยู่ได้ถึง 30 ปี

เรื่อง งานก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ด้วยไม้ไผ่ในรูปแบบใหม่ๆ เป็นเรื่องที่เราเออออคล้อยตามได้  แต่ไอ้ที่นึกไม่ออกเลยก็
เจ้ารถจักรยานไม้ไผ่ที่กำลังเป็นข่าวในยุโรปมันจะขี่กันเข้าไปได้ยังไงกัน

จักรยานทำด้วยไผ่

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิทพ์เดอะการ์เดียนที่ทดลองขี่แล้วรายงานให้อิจฉาเล่นว่าสุด ยอด ทั้งเบา และซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่าจักรยานโลหะ แถมพรรณา ว่า “ให้พลังและความรู้สึกเหมือนเมื่อเราเล่นหวดไม้เรียวไม้ไผ่ในอากาศตอน เด็กๆ” สนนราคาคันที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์อย่างเครก คาลฟี ก็แค่สามพันปอนด์เท่านั้นเอง! ในขณะที่จักรยานไม้ไผ่เป็นได้เพียงของเล่นคนรวยในยุโรป ที่แอฟริกามันกำลังเป็นพาหนะทางเลือกของ
คนจน  เป็นผลงานของโครงการจักรยานไม้ไผ่ (Bamboo Bike Project) ริเริ่มโดยกลุ่มนักศึกษาวิศวะมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  ล่าสุด มีการคิดประดิษฐ์เครื่องลนไฟไม้ไผ่ ไม่ต้องนั่งทำมือทีละท่อนอีกแล้ว ที่สำคัญ มอเตอร์เครื่องลนไฟนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

นับว่าโครงการนี้รวมสัญลักษณ์การพัฒนายั่งยืนไว้ได้ครบแทบทุกมิติ ทุกขั้นตอน
เอช.จี.เวลส์ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นปู่ เจ้าของคำพูดคลาสสิค “เมื่อผมเห็นผู้ใหญ่ขี่รถจักรยาน ผมมีความหวังกับอนาคตของมนุษยชาติ”จะดีใจขนาดไหนเมื่อได้เห็นผู้ใหญ่ขี่ จักรยาน ทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งถูกทรีตด้วยเครื่องจักรพลังงานแสงอาทิตย์

Article Credit : ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ | มูลนิธิโลกสีเขียว http://www.greenworld.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น